ก.ล.ต. สรุปผลการดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ในช่วงปี 2563 – 2564 มีโครงการที่สำเร็จแล้วทั้งหมด 50 โครงการย่อย โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ครอบคลุมทุกด้านของตลาดทุน ช่วยลดภาระและต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมูลค่ารวมมากกว่า 230 ล้านบาทต่อปี พร้อมเดินหน้าต่ออีก 38 โครงการย่อยให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในปี 2565
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชน และลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน สอดรับกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ระยะดำเนินการในช่วงปี 2563 – 2565 โดยทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 88 โครงการย่อย นั้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 ก.ล.ต. สามารถดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ได้สำเร็จตามเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้น 50 โครงการย่อย ซึ่งช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 230.27 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 163,379 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 1,832,508 แผ่นต่อปี โดยในปีนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการต่อเนื่องอีก 38 โครงการย่อย ซึ่งมั่นใจว่า เมื่อครบระยะเวลาโครงการในสิ้นปี 2565 จะสามารถดำเนินการได้ครบ 88 โครงการตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ 50 โครงการย่อยที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ประกอบด้วยโครงการด้านธุรกิจตัวกลางและตลาด 14 โครงการ ด้านธุรกิจจัดการลงทุน 17 โครงการ ด้านการระดมทุน 15 โครงการ ด้านการกำกับการสอบบัญชีและรายงานทางการเงิน 3 โครงการ และด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและประสิทธิภาพองค์กร 1 โครงการ โดยมีโครงการที่สำเร็จเพิ่มเติมในไตรมาส 4 ปี 2564 จำนวน 7 โครงการย่อย จากทั้งหมด 35 โครงการในปี 2564 ได้แก่
(1) ปรับปรุงรูปแบบการแจ้งหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลกรรมการและผู้บริหารของบริษัทให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งลดการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้น้อยลง โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากภายนอก
(2) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจและเป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น รวมถึงไม่เป็นภาระเกินสมควรแก่ภาคธุรกิจ
(3) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับระบบงานการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน
(4) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนรวมและตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ
(5) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและรองรับการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจ
(6) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการลดทุน เพื่อลดภาระผู้ประกอบธุรกิจในการทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกให้จัดส่งเอกสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
(7) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการจัดส่งรายงานการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักหักบัญชี เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสำนักหักบัญชี
ข่าวเด่น