วิทยาศาสตร์
กระทรวง อว. สวทช. ผนึก 21 พันธมิตรด้านวิเคราะห์ทดสอบชั้นนำของไทย เตรียมความพร้อมก้าวสู่ ''ฮับด้านศูนย์ทดสอบ'' (Testing Hub) มาตรฐานระดับอาเซียน


วันที่ 21 มกราคม 2565 ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP-CC) สวทช. จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) ครั้งที่ 2  เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ผ่านเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSEN) รวม 21 หน่วยงาน โดยมี ผศ.ดร.สยาม ภพลือชัย ประธาน TSEN ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ. ดร.ภูวดล บางรักษ์ รองประธาน TSEN ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ดร.ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ เลขานุการ TSEN ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ สวทช. (NCTC) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้ง 21 หน่วยงานร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้ รวมถึงการแสดงนิทรรศการโชว์ศักยภาพเครื่องมือทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย


ดร.ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ในฐานะเลขานุการ TSEN กล่าวถึง ผลการดำเนินการของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน TSEN 5 ปี ที่ผ่านมา ในระยะแรก 17 หน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ "ฮับด้านศูนย์ทดสอบ” (Testing Hub) ที่มีมาตรฐานระดับอาเซียน โดยการทำงานในรูปแบบเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ TSEN ซึ่งมีวัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของศูนย์เครื่องมือภายในประเทศรอบด้าน อันได้แก่ การบริหารจัดการ การดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบและบริการวิชาการ การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ การสร้างฐานข้อมูลเครื่องมือวิทยาศาสตร์ การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ การพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สร้างความเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของเครื่องมือและการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ (1) กลุ่มวิจัยเชิงพาณิชย์ (2) กลุ่มพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ และวิธีวิเคราะห์ (3) กลุ่มบริหารจัดการความรู้การจัดหาครุภัณฑ์ (4) กลุ่มฐานข้อมูลทางด้านความสามารถของห้องปฏิบัติการ (5) กลุ่มซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือวิทยาศาสตร์และกลุ่มส่งเสริมกิจกรรมเครือข่ายและพัฒนาบุคลากร และ (6) กลุ่มความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ รวมถึงมีการจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญทางด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์ร่วมกันของหน่วยงานเครือข่าย TSEN ที่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ผ่าน www.tsen.in.th นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกของเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ภายในประเทศได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานของห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนได้รับทราบความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมของเครื่องมือวิจัยขั้นสูง รวมถึงการให้คำปรึกษารายละเอียดการใช้เครื่องมือวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบภายในประเทศ  
 

ผอ. ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ 21พันธมิตรทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย (1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (4) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (5) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (6) มหาวิทยาลัยทักษิณ  (7) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (8) มหาวิทยาลัยนเรศวร (9) มหาวิทยาลัยบูรพา (10) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (11) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (12) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (13) มหาวิทยาลัยมหิดล (14) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (15) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (16) มหาวิทยาลัยศิลปากร (17) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (18) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (19) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (20) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ (21) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC)
 
 
จากความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินงานแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ในด้านการบริการวิเคราะห์ทดสอบร่วมกันกับหน่วยงานศูนย์เครื่องวิทยาศาสตร์ทุกภูมิภาคของประเทศ จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก ตลอดจนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการการวิเคราะห์ทดสอบที่มีมาตรฐาน ผ่านห้องปฏิบัติการและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ภายในประเทศที่ได้รับการยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ศักยภาพการวิเคราะห์ทดสอบในประเทศเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขยายเป็น Testing Hub ระดับอาเซียนในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2565 เวลา : 18:21:35
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:55 am