การค้า-อุตสาหกรรม
''ซิปโซ่'' เอสเอ็มอีกับนวัตกรรมข้าวต้ม Ready to Eat เข้าถึงลูกค้าขายผ่านร้านเซเว่นฯ


“นวัตกรรม” นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการหลายหน่วยงาน  


 

โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนและน่าจับตามองได้แก่ “Sipso (ซิปโซ่) ผลิตภัณฑ์ข้าวต้มข้าวกล้องหอมมะลิ” ซึ่งผลิตโดย บริษัท ซิปโซ่ท้อปปิคอลดริ๊ง จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่นำนวัตกรรมมาช่วยให้ข้าวกล้องหอมมะลิ เมื่อต้มแล้วยังคงความหอม แม้จะบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป อีกทั้งยังสามารถคงคุณประโยชน์ของข้าวไว้อย่างครบถ้วน ส่งผลให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี  แม้เริ่มวางจำหน่ายได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ปัจจุบันมียอดผลิตเพื่อจัดจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศจำนวน 20,000 ถ้วยต่อเดือน ในราคาถ้วยละ 22 บาท 

 

พลรชฎ เปียถนอม กรรมการ บริษัท ซิปโซ่ท้อปปิคอลดริ๊ง จำกัด พร้อมด้วย ดารารัตน์ เปียถนอม ผู้จัดการโรงงาน เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ตลาดมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่จะต้องอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ รับประทานได้ง่าย พร้อมรสชาติที่ถูกปาก ข้าวต้มจึงเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้มากที่สุด 

 

ทางบริษัทจึงเดินหน้าผลิตข้าวต้มพร้อมทานออกจำหน่าย โดยเลือกที่จะใช้ข้าวกล้องหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิชั้นดีมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก แต่พิเศษด้วยการนำนวัตกรรมด้านการเพาะปลูก ดูแลรักษา และการรักษาความหอมของข้าวมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รสสัมผัสของความเป็นข้าวหอมมะลิอย่างแท้จริง 

 

“ข้าวหอมมะลิในปัจจุบันผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะได้เป็นข้าวสารเพื่อนำมาบริโภค กระบวนการเหล่านั้นทำให้ข้าวสูญเสียสารหอมในข้าว (2AP) ที่เป็นเอกลักษณ์ไป ซึ่งการรักษาสารหอมนั้นจะต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยดูแลในทุกห่วงโซ่การผลิต เริ่มจากการปลูกต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะปลูกในระดับสากลเท่านั้น โดยเราจะรับซื้อข้าวในระยะเม่า (ข้าวเขียว) ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อมาตากแดด และนำมาสีแบบช้าๆ ให้ความหอมยังคงอยู่ พร้อมคัดสิ่งเจือปนออก จากนั้นนำมาแปรรูปเป็นข้าวต้ม สำหรับข้าวที่ยังไม่นำมาแปรรูปจะถูกจัดเก็บในห้องเย็น วิธีการนี้จะทำให้ข้าวยังคงความหอมและคุณประโยชน์ทางโภชนาการเอาไว้ได้ นอกจากคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับแล้ว กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ นครพนม ซึ่งปลูกข้าวให้เราก็จะได้รับการประกันราคาจำหน่ายขายข้าวเปลือกได้ในอัตราที่สูงถึงกิโลกรัมละ 22 บาท ปัจจุบันบริษัทรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรปีละประมาณ 60 ตัน” พลรชฎ กล่าว” 

 

ขณะที่ ดารารัตน์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนวัตกรรมในการเพาะปลูกแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ด้วย โดยบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทใช้สามารถเก็บรักษาคุณภาพและรสชาติของอาหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเพียงไม่กี่เจ้าของไทยที่ใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ ส่วนแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดนั้น บริษัทมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและ ALL Online เช่นเดิม เนื่องจากมองว่าเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกและรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี 

ด้าน ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รษก.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME มาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมสินค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์และทุกประเภทสินค้า รวมไปถึงสินค้านวัตกรรมด้วยเช่นกัน ยังคงเดินหน้าตอกย้ำปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” ผ่านภารกิจ “3 ให้ SME” ได้แก่ 1.ให้ช่องทางขาย 2.ให้ความรู้ และ 3.ให้การสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการ SME ที่มีการพัฒนาธุรกิจและสินค้าได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ที่นำเรื่องนวัตกรรมมาสร้างสรรค์สินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ 

 

“นวัตกรรม ไม่เพียงจะช่วยสร้างความโดดเด่น แตกต่าง และความหลากหลายให้กับตลาดเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าอีกด้วย หากผู้ประกอบการต้องการที่จะแข่งขันในเวทีการค้าระดับประเทศหรือระดับโลก นวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและผู้บริโภคในปัจจุบัน ซีพี ออลล์พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME หลายรูปแบบ อาทิ การจัด Business Matching , โครงการประกวดสินค้านวัตกรรม 7 Innovation Awards และจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรม ฯลฯ ด้วยความมุ่งหวังที่จะต้องการสร้างสินค้านวัตกรรมชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มแห่งโอกาสสู่ชุมชน เพื่อให้ SME ไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกๆ ห่วงโซ่ธุรกิจ” ยุทธศักดิ์ กล่าว  

สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวต้มข้าวกล้องหอมมะลิ Sipso (ซิปโซ่) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาสินค้า นอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่าง ความโดดเด่น และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว ในรากลึกของตัวผลิตภัณฑ์ยังช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจและเกษตรกรอีกด้วย  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2565 เวลา : 12:01:39
19-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 19, 2025, 7:38 pm