กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเกาหลีใต้พร้อมใช้ความตกลง RCEP 1 ก.พ. นี้ เตรียมยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทยทันที 7,843 รายการ คิดเป็น 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด พร้อมเตรียมเปิดตลาดเพิ่มให้สินค้าไทยอีก 413 รายการ ส่วนมาเลเซียพร้อมใช้ความตกลงฯ 18 มี.ค. 2565 จะยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทย 6,590 รายการ คิดเป็น 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด แนะผู้ส่งออกเตรียมใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP ขยายตลาดเพิ่ม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลใช้บังคับกับสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา และประเทศสมาชิก RCEP ที่เหลืออีก 5 ประเทศ ได้เริ่มทยอยยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP โดยเกาหลีใต้ได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับกับเกาหลีใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และล่าสุด มาเลเซียได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับกับมาเลเซียในวันที่ 18 มีนาคม 2565 สำหรับประเทศที่เหลือคาดว่าจะยื่นให้สัตยาบันให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเร็วๆ นี้
นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับการมีผลบังคับใช้ของ RCEP อย่างเต็มที่ โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการกระบวนการภายในในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP กับเกาหลีใต้และมาเลเซีย โดยเกาหลีใต้จะยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทยร้อยละ 90.7 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะยกเว้นภาษีทันที 7,843 รายการ ในวันที่ 1 ก.พ. 2565 นอกจากนี้ ยังเปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทย 413 รายการ จากที่เคยให้ไทยภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลี เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งที่เริ่มยกเว้นภาษีในวันที่ 1 ก.พ. 2565 และที่ทยอยลดและยกเว้นภาษีภายใน 10-20 ปี
ทั้งนี้ นอกจากการเปิดตลาดด้านการค้าสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ในส่วนการเปิดตลาดการค้าบริการยังจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง และการผลิตแอนิเมชั่น ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว บริการด้านสิ่งแวดล้อม และเกมส์ออนไลน์ ทั้งนี้ ในปี 2564 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 15,801.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.93 ของการค้ารวมของไทยกับโลก เป็นการส่งออก 5,882.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 9,918.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของมาเลเซียก็จะยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าให้ไทยร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยในวันที่ 18 มี.ค. 2565 จะยกเว้นภาษีทันทีถึง 6,590 รายการ เช่น ยางธรรมชาติและน้ำยางธรรมชาติ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดรว์ วงจรพิมพ์ อาหารสุนัขหรือแมว อาหารปรุงแต่งสำหรับทารก น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม เครื่องยนต์ และเม็ดพลาสติก (โพลิคาร์บอเนต) เป็นต้น ทั้งนี้ ในฐานะสมาชิกอาเซียน มาเลเซียได้เปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกัน มากกว่าที่เปิดให้ประเทศนอกกลุ่มอยู่แล้วภายใต้ความตกลงอาเซียน ผู้ส่งออกของไทยจึงมีทางเลือกในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงอาเซียน หรืออาเซียน+1 อื่น ที่มาเลเซียลดภาษีให้ไทยมากกว่า หรือภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อใช้ประโยชน์จากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับในปี 2564 มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 24,076.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.47 ของการค้ารวมของไทยกับโลก เป็นการส่งออก 12,058.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 12,018.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ความตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ อัตราภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ได้ที่ศูนย์ RCEP Center กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำ E-Book ความตกลง RCEP ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้ได้อย่างสะดวก โดยสามารถเข้าไปสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.dtn.go.th”
ข่าวเด่น