ไอที
Mitsubishi Electric จับมือ DOCOMO ติดตั้ง ''Private 5G'' ณ โรงงานต้นแบบใน EEC เป็นเคสแรกที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายของญี่ปุ่นในต่างประเทศ


Mitsubishi Electric ร่วมกับ NTT DOCOMO, INC. หรือ DOCOMO ผู้นำการให้บริการด้านเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารในประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจขยาความร่วมมือเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตร e-F@ctory’s Alliance หรือ Digital Manufacturing Ecosystem ในประเทศไทย กับ Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand) เพื่อนำเทคโนโลยี "Private 5G Network" มาช่วยในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อร่วมสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐโดยความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทาง NTT DOCOMO INC, ประเทศญี่ปุ่นที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายเทคโนโลยีระบบเครือข่ายการสื่อสารของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศตามแผนการโครงการร่วมทุน "Overseas Corporate 5G Solution Consortium” โดยมีแผนที่จะร่วมกันติดตั้งในพื้นที่/โรงงานต้นแบบ ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมได้เข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของ "Private 5G Network" ที่สอดคล้องกับความต้องการ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2565 เพื่อมุ่งหวังในการผลักดันในการสร้างโรงงานอัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิตผ่านระบบออโตเมชั่น และเทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งแยกเป็นอิสระจากเครือข่ายการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประมวลผลเพื่อปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะสำหรับด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเข้าถึงและรั่วไหลของข้อมูลของผู้ประกอบการ


นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MELFT อธิบายเพิ่มเติมว่า“MELFT ในฐานะบริษัทลูกในประเทศไทยของ Mitsubishi Electric Corporation ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมและได้มีความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อการติดตั้ง Digital Manufacturing Model Line หรือต้นแบบสายการผลิตสำหรับจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติด้านการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมในแนวทางของ e-F@ctory ในพื้นที่ของโครงการ EEC Automation Park เพื่อทำหน้าที่เป็นโชว์รูมของโรงงานอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยความร่วมมือกับพันธมิตร NTT DOCOMO, INC. ถือว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับการต่อยอดความร่วมมือกับทางสำนักงาน EEC ในการช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในพื้นที่ EEC รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะการผลักดันโครงการที่ใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยี 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างมีความกังวลอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยของเครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะการติดตั้งเครือข่ายแบบ "Private 5G" ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ให้เห็นถึงระบบที่มีความปลอดภัยสูงและมีความเสถียรเป็นอย่างมาก เพราะแยกเป็นอิสระจากเครือข่ายสื่อสารสาธารณะอย่างสิ้นเชิงไร้ผลกระทบจากการรับส่งข้อมูลจากการสื่อสารอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทำให้การเชื่อมต่อและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ระบบไร้สายยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการเดินสาย การย้ายสายเคเบิล และประหยัดเวลาในการโยกย้ายอุปกรณ์ในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น จะช่วยให้สามารถใช้โซลูชั่นที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างง่ายดาย และยืดหยุ่น โดยสุดท้าย จะทำให้เป้าหมายของทางภาครัฐในการสนับสนุนการสร้างโรงงานอัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยเป็นไปได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

โดยความร่วมมือในการติดตั้งเทคโนโลยีการสาธิตทดสอบ “Private 5G Network” ในประเทศไทยครั้งนี้ ส่งผลให้ทาง Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand) มีเครือข่ายพันธมิตรที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกส่วนงาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการผลิตและการสื่อสาร หรือ Operation Technology รวมถึง Information Technology เพื่อร่วมทำงานกับพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกับ Systems Integrator สำหรับการเร่งพัฒนาและผลักดันโครงการต่างๆของภาครัฐเพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านความร่วมมือกับคณะทำงาน EEC ในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและแน่นอนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเข้ามาทำธุรกิจของ NTT DOCOMO, INC. ประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้เกิดการพัฒนามากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันกับทั่วโลกได้อย่างที่วางเจตนาร่วมกันไว้ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรวมถึงเชื่อมโยงนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และยังเป็นการยืนยันว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศนี้จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยความสัมพันธ์อันดีเช่นเดิน

ในความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทได้มีการกำหนดบทบาทในการทำงานร่วมกันโดยแยกเป็นส่วนเทคโนโลยีและความรู้ด้านวิศวกรรมต่าง ๆ ในส่วนที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญเพื่อดำเนินการให้เจตนารมณ์ในความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามแผนงานโดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนเพื่อปรับตัวรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.พ. 2565 เวลา : 18:59:28
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:24 pm