แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK เสนอยกเครื่องประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ ''ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง'' สร้าง ''คน'' และ ''ทีม'' ประเทศไทยบุกตลาดโลก


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงนโยบายในโอกาสครบรอบ 28 ปีของธนาคาร ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ประเทศไทยในวันนี้ไม่เหมือนอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” ของเอเชียต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ปัจจุบันไทยยังติดกับดักเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำลังจะไต่ขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Country) ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทิ้งห่างประเทศไทยหลายช่วงตัวซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี และเวียดนามที่แซงหน้าประเทศไทยในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะการส่งออกและเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นผลจากข้อจำกัดของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. ขนาดตลาดและกำลังซื้อ ไทยมีจำนวนประชากรเพียงไม่ถึง 70 ล้านคน และกำลังซื้อไม่สูง เพราะเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ไทยมีสัดส่วนของประชากรอายุเกิน 60 ปีสูงถึงเกือบ 20%
 
2. การขาดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ที่ผ่านมาการผลิตเน้นเชิงปริมาณมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แทนการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแบรนด์ของตนเอง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเท่าที่ควร
 
3. การขาดนักรบเศรษฐกิจไปบุกตลาดต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดในประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะตลาดใหม่ (New Frontiers) หรือแม้แต่ตลาดหลักเดิมที่ยังมีช่องว่างอีกมากในการเข้าไปเติมเต็ม
 
4. ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และกฎระเบียบหลายประการยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยจึงขอเสนอกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย (Thailand Game Changer)” ดังนี้
 
1. เกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านขนาดตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึง 1% ของ SMEs รวม เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนถึง 10%
 
2. เกมสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) เพื่อรองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) เพื่อสร้างความสะดวกสบายและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกระแสการดูแลสุขภาพ
 
3. เกมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พาณิชยนาวี Logistics และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
 
ในปี 2565 EXIM BANK จึงมีนโยบายมุ่งเน้นบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Bank)” ด้วยภารกิจ ดังนี้
 
• “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้ โดยสนับสนุนให้เกิดการ Transform ธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal
 
 
• “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular, Green Economy : BCG Economy) และสร้างนักรบเศรษฐกิจหน้าใหม่ที่พร้อมบุกตลาดโลก โดยมุ่งเน้นบ่มเพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก (Indirect Exporters) ให้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก เริ่มต้นจากการค้าออนไลน์บน EXIM Thailand Pavilion ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม Alibaba
 
 
• “เสริม” การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)
 
• “สานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างคุณค่าและผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในการเดินหน้าภารกิจข้างต้น พื้นฐานสำคัญคือ คน (People) ซึ่ง EXIM BANK จะเร่งพัฒนาองค์กรให้เป็น Empathic Workplace ที่ดึงดูดให้บุคลากรภายในองค์กรพร้อมส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ลูกค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และผู้คนในสังคมที่ยังเปราะบาง ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพ และยืดหยุ่น พร้อมรับมือและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและส่งมอบสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค อันจะนำไปสู่ผลกำไร (Profit) ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวม บนรากฐานของการพัฒนากระบวนการ (Process) และช่องทาง (Platform) ใหม่ ๆ ที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในรูปของบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างยั่งยืน
 

ด้านผลการดำเนินงานปี 2564 แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ EXIM BANK สามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ด้วยการขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงิน (สินเชื่อและประกัน) และไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% ซึ่งเป็นผลงานด้านสินเชื่อที่สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 13.50% จากปีก่อน สะท้อนบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%
 

สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ New Frontiers รวมถึง CLMV โดยปี 2564 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาด New Frontiers รวมถึง CLMV ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
 

ด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน พักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้ ปี 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท
 

EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 2.73% ลดลงจาก 3.81% ณ สิ้นปี 2563 โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,166 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 11,670 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 280.11%

นอกจากนี้ ในปี 2564 EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565 เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้ EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง
 

“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Next Normal ที่ผู้คนเริ่มปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากโควิด-19 พร้อมกับโอกาสที่กำลังเข้ามาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างผู้ส่งออกใหม่จากกลุ่มผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากจะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีจำนวนรายและมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ขณะเดียวกันยังช่วยนำพาผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างผลผลิตเป็นนักรบเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกให้กลับมาเติบโตได้ทวีคูณและยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว
 
 
“เกมการเล่นของ EXIM Bank ที่จะทำให้ได้ภายใน 2 ปีนี้ หรือก่อนที่จะฉลองครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง EXIM Bank คือ จะทำให้พอร์ตสินเชื่อมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 152,773 ล้านบาท โดย 75% จะปล่อยให้กับภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว(Green) อุตสาหกรรม Digital และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ(Health) และอีก 25% ปล่อยสินเชื่อ SMEs ให้คนที่อ่อนแอกว่า เพื่อเป็นกำลังในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดย NPL จะต้องไม่เกิน 3.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.73% ซึ่งสไตล์การเล่นในตลาดของ EXIM Bank จะไม่ใช้วิธีการตัดราคา แต่จะเป็นลักษณะร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์ในการร่วมกันปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ โดยยึดหลัก เปลี่ยนคู่แข่ง ให้เป็นคู่ค้า”ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ในส่วนของ EXIM Bank จะพยายามชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาได้ลืมตาอ้าปาก

ทั้งนี้ ในปี 2564 EXIM Bank ได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยได้รับเงินแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565

แต่ทั้งนี้  EXIM Bank ยังมีความต้องการเงินเพิ่มทุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 400,000 ล้านบาท เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้ EXIM Bank เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

LastUpdate 09/02/2565 15:44:10 โดย : Admin
22-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 22, 2025, 5:45 pm