วารสาร New England Journal of Medicine แสดงผลการศึกษาจากการประเมินประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม หลังจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA-1273 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 mRNA-1273 เข็มหลัก ขนาด 100 ไมโครกรัม ครบ 2 เข็ม จากนั้นได้รับการสุ่มเลือกเพื่อรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ต่างกันดังนี้ วัคซีน mRNA-1273, วัคซีนสูตรผสม mRNA-1273.211 (สายพันธุ์ดั้งเดิม+เบต้า) หรือ วัคซีนสูตรผสม mRNA-1273.213 (สายพันธุ์เบต้า+เดลต้า)
จากการศึกษาพบว่า การได้รับวัคซีน mRNA-1273 เข็มหลัก ครบ 2 เข็ม เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จะมีภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ต่ำกว่าเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม ถึง 35 เท่า ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าดังกล่าวอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีภายหลังจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA-1273 ขนาด 50 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ใหญ่ในขณะนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 29 วัน พบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อโอไมครอนจากเดิมได้ถึง 20 เท่า ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นมาน่าจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนลง จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนลดระดับลง 6.3 เท่า แต่ก็ยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันดังกล่าวในอาสาสมัครทุกคน เป็นที่น่าสังเกตว่าการลดลงของระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม (ลดลง 6.3 เท่า เทียบกับ 2.3 เท่า)
ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นในขนาด 100 ไมโครกรัม ทั้งสามสูตรที่ทำการทดสอบ ได้แก่ วัคซีน mRNA-1273, วัคซีนสูตรผสม mRNA-1273.211 และ วัคซีนสูตรผสม mRNA-1273.213 พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนที่คล้ายคลึงกัน โดยระดับของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนที่ตรวจวัดได้จะมีค่าสูงกว่าระดับที่ได้จากวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA-1273 ขนาด 50 ไมโครกรัม ประมาณ 2.5-2.6 เท่า
แหล่งที่มาของข้อมูล
Pajon, Rolando et al. “SARS-CoV-2 Omicron Variant Neutralization after mRNA-1273 Booster Vaccination.” The New England journal of medicine, 10.1056/NEJMc2119912. 26 Jan. 2022, doi:10.1056/NEJMc2119912
ข่าวเด่น