สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรม ภายในเวลาอันรวดเร็วและครอบคลุม เพื่อที่จะให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในโลกยุคนี้ และที่แน่ ๆ คือ เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่คนในแวดวงธุรกิจแต่อย่างใด กล่าวคือ จากผลการศึกษาของ McKinsey เมื่อปี 2561 พบว่า มีบริษัทเพียง 8% เท่านั้นที่เชื่อว่าโมเดลธุรกิจของตนเองจะยังคงสามารถใช้การได้ดีในแง่เศรษฐศาสตร์ในระยะยาวจนถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในรอบถัดไป
นายเติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์
รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์
แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีก็คือ ถึงแม้ว่าปี 2564 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันครั้งใหญ่เกิดขึ้นต่อวงการธุรกิจ แต่ก็มีปัญหาท้าทายใหม่ทางด้านเทคโนโลยีบางประการที่จำเป็นจะต้องหยิบยกมาพิจารณา
เราสำรวจปัญหาท้าทายด้านเทคโนโลยี 6 ข้อที่ผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล หรือการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)
1. การพัฒนา Custom Code ถือเป็นเรื่องยาก
ปัจจุบัน โครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นส่วนใหญ่ใช้โค้ดที่พัฒนาขึ้นเอง หรือ Custom Code แต่การเขียนโค้ดประเภทนี้กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นกว่าในอดีต และสุดท้ายแล้วโครงการจำนวนมากก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากเหตุผลจากการพัฒนาด้วย Custom Code นี้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้การเขียน Custom Code เป็นเรื่องยากมีหลายสาเหตุ เช่น:
เทคโนโลยีมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการเขียนโค้ดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทุกวันนี้ นักพัฒนาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดการและดูแลรักษาโค้ดที่มีอยู่ จนแทบไม่มีเวลาเหลือสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
การตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟังก์ชั่นการทำงานโดยตรง เช่น การรักษาความปลอดภัย กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ถ้าคุณลองดูข้อซักถามของนักวิเคราะห์ระบบ คุณก็จะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวิธีการจัดการเรื่องของความปลอดภัย การขาดแคลนบุคลากรด้านการพัฒนา ซึ่งนำไปสู่ปัญหาท้าทายถัดไป
2. ช่องว่างด้านทักษะ
เป็นเรื่องยากที่จะสรรหานักพัฒนาให้เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามที่บริษัทต้องการ จากรายงาน Speed of Change: How Fast Are You ระบุว่า บริษัทส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมีการพัฒนาทางด้านดิจิทัลและความคล่องตัวในระดับใดก็ตาม ล้วนประสบปัญหาขาดแคลนทักษะและบุคลากร ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการปรับใช้สถาปัตยกรรมไอทีที่ทันสมัยภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงไม่สามารถเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น
แม้กระทั่งบริษัทชั้นนำในซิลิคอนวัลเลย์ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการว่าจ้างนักพัฒนาภายในกรอบเวลาที่รวดเร็ว และปัญหานี้ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกสำหรับบริษัทที่ไม่น่าดึงดูดใจในสายตาของนักพัฒนา
3. เทคโนโลยีที่แยกเป็นส่วน ๆ ไม่เชื่อมต่อกันภายในบริษัท
ความท้าทายนี้เกิดขึ้นกับหลาย ๆ บริษัทที่อยู่ในระยะเริ่มแรกของโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น กล่าวคือ บริษัทตัดสินใจเลือกว่าจะทำอะไรเป็นโครงการแรก ซึ่งโดยมากแล้วการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นโครงการแรก ๆ มักจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการปรับปรุงประสบการณ์สำหรับลูกค้า และหลังจากนั้นบริษัทก็เลือกเครื่องมือเฉพาะด้านสำหรับรองรับโครงการดังกล่าว
จากนั้น อีกทีมงานหนึ่งภายในบริษัทก็เริ่มต้นคิดที่จะดำเนินโครงการเกี่ยวกับระบบหลังบ้าน และเลือกใช้เครื่องมือที่ต่างออกไป และต่อมาอีกทีมหนึ่งก็ต้องการสร้าง Dashboard แสดงผลเรื่องการปฏิบัติงาน โดยเลือกใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่ง
นี่เป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งแทนที่บริษัทจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นเพื่อรองรับโครงการธุรกิจที่หลากหลาย กลับกลายเป็นว่ามีการใช้เครื่องมือมากมายที่ไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้เกิดระบบต่าง ๆ ที่แยกออกจากกัน และนำไปสู่ทางตันในท้ายที่สุด
4. หนี้ทางเทคนิค
หนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) หมายถึงเทคโนโลยีที่ถูกติดตั้งใช้งานเพื่อประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งมักจะเป็นผลมาจากการด่วนตัดสินใจโดยขาดความรอบคอบ แทนที่จะพัฒนาระบบอย่างรอบด้านในลักษณะที่ถูกต้องเหมาะสม และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ แอปที่ใช้ทรัพยากร เวลา และพลังงานอย่างสิ้นเปลืองและเปล่าประโยชน์ และบั่นทอนขีดความสามารถของบริษัทในการแข่งขัน การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการปรับตัวสำหรับอนาคต
จากผลการศึกษาล่าสุด มีการประเมินว่าหนี้ทางเทคนิคอาจก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อองค์กรธุรกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยองค์กรต่าง ๆ จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปกับการปรับแก้และดูแลรักษาโค้ดที่เคยถูกเขียนขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานระยะสั้น ซึ่งถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ก็เท่ากับงบประมาณกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการคิดค้นไอเดียใหม่ ๆ เพื่อชิงตัดหน้าคู่แข่ง
5. คลาวด์คอมพิวติ้ง
ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งให้ประโยชน์มากมายแก่องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับขนาดของระบบได้อย่างง่ายดายเพียงแค่กดปุ่ม การเข้าถึงระบบจากทุกอุปกรณ์ ทุกที่ ทุกเวลา หรือการคิดค่าบริการตามระดับการใช้งานจริง อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป และอาจทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลใจอีกหลายเรื่องที่ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องพิจารณา เช่น ปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ความยุ่งยากซับซ้อนในการจัดการ การต้องผูกติดอยู่กับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง ประสิทธิภาพ และความเร็วในการเข้าถึง ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งที่ผู้บริหารจะต้องพิจารณาในการเลือกพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดสำหรับโครงการคลาวด์
6. การก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เราทุกคนตระหนักดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในการดำเนินธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดอย่างกว้างขวาง ขณะที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อรูปแบบการใช้เทคโนโลยีของผู้คน
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ระบบ 5G ซึ่งจะก่อให้เกิดแอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการให้บริการภาคสนามหรือการกระจายสินค้าอาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากเทคโนโลยี 5G
อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับอนาคตที่ไกลออกไป เป็นผลงานของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในส่วนที่เกี่ยวกับอินเทอร์เฟซระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ โดยบริษัท Neuralink Corporation ของเขากำลังศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่านี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อโลกของเราอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและก้าวให้ทันกับความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งถึงแม้ในตอนนี้อาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นโลกวิถีใหม่หรือ New Normal ในวันข้างหน้าก็เป็นได้
ข่าวเด่น