เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนน่าจะได้รับข้อมูลจากนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุน เกี่ยวกับธีมการลงทุนหลักที่เรียกว่า Reopening Economy หรือการเปิดเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้งหลังการเปิดเมือง
เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต บอกว่า โดยธีมการลงทุนนี้ จะเห็นผลชัดเจนก็ต่อเมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ลดลงตามไปด้วย พูดง่าย ๆ คือ นักลงทุนต้องมองหาสินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากสองปัจจัยดังกล่าว
สำหรับในปี 2565 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ลดลง ที่สำคัญจำนวนการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและนักลงทุนต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ดังนั้น หากยึดธีมการลงทุน Reopening Economy อาจไม่ใช่คำตอบเดียวที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุนโดยรวม เนื่องจากปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบมีรายละเอียดมากขึ้น และอาจทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความผันผวนได้ตลอดเวลา พูดง่าย ๆ คือ หากต้องการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ลดความเสี่ยง ต้องมองหาธีมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปีนี้ มีดังนี้
ธีมการลงทุนเพื่อรองรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Fed มีท่าทีที่เด็ดขาดมากขึ้นในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และหากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น โดยการประชุมในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกําหนดนโยบายการเงินของ Fed มีแนวโน้มในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ มากถึง 3 ครั้ง
จากข้อมูลดังกล่าว ประเมินได้ว่าในปีนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สภาวะอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โดยในอดีตสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มที่มีหนี้สินต่ำ มีกระแสเงินสดเป็นบวก เป็นต้น
ส่วนนักลงทุนที่เน้นลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ต้องปรับพอร์ตลงทุนด้วยการปรับลดการถือตราสารหนี้ระยะยาวมาเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น หากเน้นลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ก็เบาใจได้ เนื่องจากผู้จัดการกองทุนเตรียมบริหารจัดการให้ทันกับสถานการณ์ตลอดเวลา
ธีมธุรกิจ e-Comerce
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปใช้ e-Commerce มากขึ้น และเร็วขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาด e-Comerce เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และจากนี้ไปความต้องการซื้อสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ของผู้บริโภคจะยังคงอยู่ต่อไปหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
e-Market บริษัทวิจัยด้านการตลาด สำรวจข้อมูลพบว่าในปี 2563 ที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยอดขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 26% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ในปีที่ 2564 ประเมินว่ายอดขายสินค้าออนไลน์เติบโตราว 17% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 11% ไปจนถึงปี 2568 โดยคาดว่าธุรกิจ e-Commerce จะมีสัดส่วนคิดเป็น 27% ของยอดค้าปลีกทั่วโลกภายในปี 2567
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ให้บริการหรือเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ถัดมาเป็นผู้ให้บริการให้เช่าพื้นที่เก็บสินค้า ดังนั้น หุ้นกลุ่ม Logistic รวมถึงธุรกิจที่รับชำระเงินออนไลน์ จะได้ประโยชน์ด้วยจากการเติบโตนี้
ธีมกลุ่มธุรกิจที่เน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG)
การลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมทั้งผลกระทบจากการลงทุนที่มีต่อโลก
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกคนต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ต้องประเมินแนวโน้มและมองกระแสโลกในอนาคต ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยนักลงทุนได้รับรู้และตระหนักถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นจึงมองว่าการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG นับเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยกำหนดความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ดังนั้น หากบริษัทใดมีคะแนนด้าน ESG ที่ดีก็เป็นเป้าหมายในการลงทุน
จากการสำรวจของ Morningstar ผู้ให้บริการข้อมูลด้านกองทุนรวมทั่วโลก ล่าสุด (ไตรมาส 3 ปี 2564) มีจำนวนกองทุนรวมด้านความยั่งยืนทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 51% หรือประมาณ 7,000 กองทุน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ธีมกลุ่มเทคโนโลยีและสุขภาพ
ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงมีแนวโน้มที่การสื่อสาร การบริโภค หรือการทำงานในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแม้แต่ 5G ที่มีความสำคัญสูงสุดต่อบุคคล องค์กร และรัฐบาล
ดังนั้น จะสังเกตว่าบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงสุดติดอันดับโลก ล้วนเป็นบริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้วนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันทั่วโลกตระหนักและใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้นักลงทุนสนใจในเรื่องนวัตกรรมด้านสุขภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมามีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านสุขภาพลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ลดลง แต่จากนี้ไปประเมินว่าจะเกิดการควบรวมกิจการ (M&A) ธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้น และหลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ก็จะมีการใช้เงินทุนพัฒนาและวิจัยเพื่อหาทางรักษาโรคร้ายแรงมากขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจสุขภาพยังคงเติบโตในระดับที่น่าประทับใจ
“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ใช้ได้ดีกับการจัดพอร์ตลงทุน ด้วยการเลือกเฟ้นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคตและเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก จากนั้นก็จัดสรรเงินลงทุนให้สอดคล้องกับสไตล์การลงทุน และระดับความเสี่ยงของตัวเอง รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์ เพียงเท่านี้ก็เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและมั่นคง
ข่าวเด่น