จากการเกิดขึ้นของ Bitcoin ด้วยแนวคิดที่จะสร้างระบบการเงินรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีตัวกลางอันมีอำนาจแบบรวมศูนย์มาคอยควบคุมกำกับดูแล ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำธุรกรรมและข้อมูลต่างๆได้อย่างเสรี ปลอมแปลงได้ยาก มันจึงกลายเป็น Digital Asset ชนิดแรกและได้กลายเป็นแม่แบบให้กับ Cryptocurrency และสินทรัพย์ทางดิจิทัลอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดของความเป็น Decentralized หรือการกระจายศูนย์ของข้อมูล ได้ถูกส่งไม้ต่อไปให้กับ “ระบบอินเตอร์เน็ต” ที่ ณ ตอนนี้ยุคของอินเตอร์เน็ตกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคที่3 ที่อินเตอร์เน็ตจะมีความเป็นประชาธิปไตย ผู้ใช้งานจะมีบทบาทใหม่ที่สามารถเป็นผู้สร้างคุณค่า เป็น Ownership และได้รับผลตอบแทนบางอย่างกลับไป ซึ่งเราเรียกยุคนี้ว่า “Web 3.0” นั่นเอง
อินเตอร์เน็ตกำลังเข้าสู่ยุค Web 3.0 แล้ว Web 1.0 กับ Web 2.0 คืออะไร?
• Web 1.0 Volume of Information เป็นชื่อเรียกของอินเตอร์เน็ตในยุคแรก มีระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 – 2005 โดยเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มต้นเกิดขึ้น การใช้งานจึงจำกัดเพียงแค่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเดียว หรือเป็นเว็บไซต์ที่ตอบสนองได้ทางเดียวที่ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาอ่าน สืบค้นข้อมูลต่างๆได้เท่านั้น ยังไม่มีสามารถทำอะไรไปได้มากกว่านี้ เราจึงจัดได้ว่า Web 1.0 เป็นการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication)
• Web 2.0 Social Media เป็นยุคที่มีระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 – ปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่ Social Media เกิดขึ้น คือทุกคนสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ทันท่วงที หรือจัดได้ว่ามีการสื่อสารทั้งสองทาง ระหว่างผู้รับ-ผู้ส่ง (Two-way Communication) ซึ่งแปลว่าเราสามารถเป็นได้ทั้ง2บทบาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราทุกคนมีสิทธิมีเสียงเป็นของตัวเอง นอกจากเราจะเป็นผู้รับหรือเป็นผู้บริโภคแล้ว เราสามารถที่จะส่งต่อสารต่างๆในรูปแบบของตัวเอง เราจึงสามารถรีวิวโต้ตอบ ทั้งสินค้า การบริการ หรือเผยแพร่ความคิดเห็นกับหนัง รายการที่ดู ไปจนถึงการเขียน Fan Fiction ต่อยอดตามจินตนาการตัวเองแยกออกจากหนัง หรือการ์ตูนที่ชื่นชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า User Generated Content (คอนเทนต์ทุกประเภทที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเหล่าผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน) นอกจากนี้ เราสามารถผันตัวเป็น Youtuber ไลฟ์สดใน Facebook เปิดช่องรายการตัวเองได้ (ไม่เหมือนยุคแรกที่สารที่เผยแพร่ต้องเป็นสถานีโทรทัศน์เหมือนในสมัยก่อน) ซึ่งข้อมูลทาง Social Media ต่างๆมากมายนี้จะถูกเก็บไว้ยังฐานข้อมูล Database ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เราใช้ส่งเสียง เช่น Facebook Twitter และพวก Big Tech ต่างๆ
•Web 3.0 คืออะไร?
แนวคิดของ Web 3.0 เกิดขึ้นโดย Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web 3.0 เมื่อปี 2014 ด้วยแนวคิด Decentralized Web หรืออินเตอร์เน็ตที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ ไม่ผูกขาดกับ Big Tech ที่ใดที่หนึ่ง จึงกล่าวได้ว่า Web 3.0 คือยุคของอินเตอร์เน็ตที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีความเป็น Decentralized ปราศจากตัวกลางหรือไม่มีเซิร์ฟเวอร์ที่กุมระบบ Data ผู้ใช้งาน หรือก็คือข้อมูลและเนื้อหาต่างๆจะไม่ตกเป็นของบรรดาบริษัท Big Tech เจ้ายักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งอีกต่อไป แต่เปิดให้ทุกคนเป็นเจ้าของ สามารถสร้างคุณค่า และได้คุณค่า (Value) บางอย่างกลับไป ซึ่งเราสามารถขุดดูโครงสร้างของ Web 3.0 ได้ออกเป็น 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Blockchain, Protocol Token, Smart Contract และ Application
1. Blockchain (Structure) การใช้เทคโนโลยี Blockchain มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ทำให้อินเตอร์เน็ตยุคของ Web 3.0 มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะการเก็บข้อมูล Data ต่างๆจะไม่ถูกเก็บไว้ที่ Centralized Database หรือเก็บรวมไว้ในบริษัทยักษ์ใหญ่ใดบริษัทหนึ่งอีกต่อไป แต่โครงสร้างของการเก็บข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบ “Data Sharing” หรือการเก็บ Data ที่มีความเป็น Decentralized ที่จะไม่มีใครเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล อันมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่อาจจะจัดเก็บข้อมูลหรือนำข้อมูลที่มีในมือไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือก็คือส่งผลเสียในแง่ของ Privacy ของข้อมูลผู้ใช้งาน ตัวอย่างที่ผู้อ่านอาจเคยประสบมาอย่าง การที่บริษัทหนึ่งขายข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งานให้กับอีกบริษัทหนึ่ง เราก็จะได้รับสายจากเบอร์ของบริษัทที่เราไม่เคยเป็นลูกค้าหรือผู้ใช้งานมาก่อน โทรติดต่อมาขายของหรือชักชวนอะไรก็ตามเพื่อประโยชน์ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งการนำ Blockchain เข้ามารันระบบอินเตอร์เน็ตในยุค 3.0 นี้เอง จะเป็นการต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ย้ายขั้วอำนาจให้ข้อมูลนั้นกลายเป็นของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทุกคน ที่สามารถควบคุมข้อมูลบนโลกออนไลน์ด้วยปริมาณข้อมูลที่มีเท่ากันๆ
2. Protocol Token (Money) ทุกคนจะเป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือระบบปฏิบัติการร่วมกัน ที่จะมาร่วมกัน Operate ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเจ้าของและมีอำนาจเพียงผู้เดียว เช่น Google Play Store ที่มี Google เป็นเจ้าของ แต่หากอยู่ในยุค Web 3.0 เราสามารถร่วมเป็นเจ้าของได้ด้วยการ ถือ Token หรือเหรียญของ Protocol นั้นๆ (ในตัวอย่าง ณ ที่นี้คือ Google Play Store) ซึ่งการที่เราจะตัดสินใจทำอะไรก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะทำได้เลย แต่ต้องเป็นการร่วมตัดสินใจ ซึ่งจะดำเนินการตาม Majority หรือเสียงส่วนใหญ่ ที่อาจเป็นไปในลักษณะของการโหวต โดยจำนวนของ Token ที่มีอยู่ในมือคืออำนาจหรือสิทธิในการโหวตที่มากขึ้น
3. Smart Contract (Activity) เทคโนโลยีต่างๆจะใช้ “Smart Contract” (การกำหนดเงื่อนไขหรือตกลงการกระทำต่างๆมาเขียนลงเป็น Code และนำ Code นั้นเก็บลงในกล่องของ Blockchain ที่จะไม่มีใครแก้ไขอะไรได้อีก) ที่ Protocol ต่างๆสามารถทำงานร่วมกันได้ ด้วยการใช้ AI ในการประมวล Data ที่เชื่อมต่อกันได้แล้ว (Data Sharing) ต่างจากยุคของ Web 2.0 ที่ Database หรือฐานข้อมูลของแต่ละบริษัทจะไม่มีการแชร์กัน ด้วยเทคโนโลยีที่มีการทำงานร่วมกัน การพัฒนาของเทคโนโลยีก็จะไปได้ไกลมากขึ้น
อย่างปกติ Web 2.0 ที่มีเทคโนโลยี Cloud Computing เป็นระบบหลังบ้านก็ผ่านผู้ให้บริการที่เป็นบริษัท Big Tech ที่เป็น Centralized คอยจัดการดูแลอยู่ แต่ยุคของ Web 3.0 คนที่ดูแล และประมวลผลต่างๆ (Processing Power) จะเป็นคนทั่วไปที่เป็น Node มาเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมหรือร่วมกันช่วยตรวจสอบโครงสร้าง ซึ่งเปรียบได้กับการตรวจสอบธุรกรรมของโลกคริปโต ที่เราอาจเป็น Nodeในลักษณะ Proof of Work (การขุด) หรือการ Proof of Stake (การฝากเหรียญ) ที่เมื่อเราเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมก็จะได้ Rewards เป็น Protocol Token ของระบบกลับไป และเทคโนโลยีหลังบ้านที่เป็น Decentralized Cloud ของ Web 3.0 ก็จะทำให้เกิด Dapps ต่างๆมากมายที่เราจะได้ Value อะไรบางอย่างกลับไป อย่างเล่นเกมแล้วได้เงิน Play to Earn หรือการออกกำลังกายแล้วได้เงินของแอพ Wirtual ที่ “AC News” ได้แนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกันไปแล้วใน “ขั้นกว่าของ Play to Earn กับ “Wirtual” App Exercise to Earn สุขภาพดีแถมยังได้เงินกลับไป” และอาจมีรูปแบบของการนำส่ง Valueในแบบอื่นๆมากมายในอนาคต
4. Application (System) Web 3.0 เราจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ไม่จำกัดเพียงแค่ Smartphone หรือ Laptop แต่เราสามารถเข้าถึงผ่าน Internet of Things ต่างๆได้หมด ซึ่งก็จะทำให้เราเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีโลกเสมือน VR และ AR ที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราจะ Interact กับเรา หรือก็คือการก้าวเข้าสู่โลก Metaverse นั่นเอง
เราจะเห็นได้ว่าตัวแนวคิดของ Web 3.0 ผู้ใช้งานอย่างเราๆสามารถร่วมกันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ มีอำนาจในการสร้างคุณค่า และยังได้ Value บางอย่างกลับไปด้วย เช่น Play to Earn หรือ Exercise to Earn ที่เราก็คงพอจะเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยุคของ Web 3.0 ในตอนนี้ ถือว่าเป็นเพียงแค่เฟสแรก และยังสดใหม่มากๆ ที่ใครหลายๆคนอาจยังไม่รู้ตัวถึงการมีอยู่เสียด้วยซ้ำ แต่ช่วงเริ่มต้นช่วงนี้ก็มีอยู่หลากหลายองค์กร ประกาศว่าตนกำลังพัฒนานวัตกรรมที่ใช้อินเตอร์เน็ตแบบ Web 3.0 แล้ว ซึ่งมันก็เป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนว่า เรากำลังก้าวเท้าออกจากยุค Web 2.0 ที่ละนิดไปแทบทุกทีๆ เสมือนคลื่นใต้น้ำที่เราแค่มองผ่านๆก็อาจจะไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของมัน แต่ทาง “AC News” วางใจว่าผู้อ่านที่ติดตามบทความ Digital Asset ของเรามาจนถึง Episode นี้ คงรับรู้ถึงเส้นทางที่การพัฒนาเทคโนโลยีจะมุ่งต่อไป และเตรียมพร้อมหาช่องทางในการสร้างประโยชน์ ต้อนรับโลกใบใหม่ที่จะมาเยือนเราทุกคนในระยะเวลาอันใกล้นี้
ข่าวเด่น