การค้า-อุตสาหกรรม
เริ่มแล้ว... งาน 'มหกรรมหลักประกันทางธุรกิจและการนำทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุน' 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สวนเทพปทุม จังหวัดปทุมธานี


เริ่มแล้ว... งาน ‘มหกรรมหลักประกันทางธุรกิจและการนำทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุน’ ระหว่างวันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สวนเทพปทุม จังหวัดปทุมธานี ภายในงานพบกับงานแสดงและจำหน่ายสินค้าจากฟู้ดทรัคและแฟรนไชส์ กว่า 30 ร้านค้า พร้อมขอรับคำปรึกษาด้านการเงินจากสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง แนะ!! เมื่อกฎหมายเปิดทางแล้วเอสเอ็มอีและประชาชนควรเร่งใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเข้าใกล้แหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น


 
นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “วันนี้ วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ได้มอบหมายให้เป็นประธานเปิดงาน ‘มหกรรมหลักประกันทางธุรกิจและการนำทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุน’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สวนเทพปทุม จังหวัดปทุมธานี การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดมหกรรมหลักประกันทางธุรกิจครั้งแรก หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบค. มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถจัดกิจกรรมได้ ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการจัดงานฯ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) และความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดปทุมธานีเป็นอย่างดี”

“การจัดงาน มหกรรมหลักประกันทางธุรกิจและการนำทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุน เป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยสามารถขอคำปรึกษาด้านการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมงานฯ (ธ.กรุงไทย ธ.กรุงเทพ ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. SME D Bank และ บสย.) รวมถึง ขอรับคำแนะนำด้านการประเมินราคาทรัพย์สินจากสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทยก่อนการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ภาคธุรกิจใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้ : สถาบันการเงิน) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป”

“ภายในงานยังมีการแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบฟู้ดทรัค แฟรนไชส์ และอื่นๆ กว่า 30 ร้านค้า เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ Food Truck *เฟร้นฟราย สแน็ก ดี *เตี๋ยวไก่ *เปรี้ยวปาก แซ่บติดล้อ *Grill lab *super Black coffee *ป็อปคอร์นทรงโจร *ทาโกะยากิ22 *Kebab Monster *กูมันแซ่บ *สายไหม *ขนมจีบจัมโบ้ *กุยช่ายน้ำย้อย *ติมเรโท *ผัดไทยหอยทอดลูกนก กลุ่มผู้ประกอบการแฟรนไชส์ *ช่อลดา คอฟฟี่ *ปังอัยยะ *ไมโลรถโรงเรียน *เตี๋ยวตุ๋นหม้อไฟอินดี้ *เครปไส้แตก *ปาป้าพิซซ่า กลุ่มผู้ประกอบการ Moc Biz club *นิสากรผลไม้แปรรูป *น้ำส้ม socool *กลุ่มสัมมาชีพบ้านบางนา ขนมไทย *หมีป่วนนมปั่น *วิสาหกิจชุมชนชมรมเพื่อนปาริชาติ *shop chic กระเป๋าหนังวัวแท้แฮนเมด *บานู เพิร์ล เครื่องประดับไข่มุก กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP *ธิริน กระเป๋าแก้ว *City Herb *วิสาหกิจชุมชนขนมหวานบ้านคูคต *บอล ดีไซน์ *สุนิสา ผลิตภัณฑ์โครเชต์ แฮนด์เมด ฯลฯ”

“นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถมองหาอาชีพทั้งหลักและเสริมได้ภายในงานฯ โดยกรมฯ พร้อมให้การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ให้เกิดการเจรจาธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่าย สร้างคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ รวมทั้ง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ผู้ที่กำลังมองหาอาชีพที่มั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว”

“ทั้งนี้ การจับมือกันระหว่างฟู้ดทรัคและแฟรนไชส์เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม เมื่อมีการควบรวมรูปแบบธุรกิจเข้าด้วยกัน จึงเป็นการเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจให้มีเพิ่มมากขึ้น และเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่พร้อมจะให้นักลงทุนเข้าร่วมลงทุน โดยอาจารย์ญาณเดช ศิรินุกูลชร ประธานและผู้ก่อตั้ง TBIC Food Truck Thailand ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน การขยายธุรกิจฟู้ดทรัครูปแบบแฟรนไชส์มีมากขึ้น เนื่องจากฟู้ดทรัคสามารถขายอาหารในพื้นที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรง ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน ใช้บุคคลากรทำงานน้อยกว่า ช่วงเวลาทำงานน้อยกว่า เคลื่อนย้ายร้านไปได้หลายพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา ฟู้ดทรัคจึงเป็นรูปแบบที่ได้เปรียบในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ที่อัตราการอยู่รอดในธุรกิจสูงกว่า ซึ่งมีฟู้ดทรัคหลายแบรนด์ที่เริ่มใช้รูปแบบการขยายธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์มาต่อยอดธุรกิจ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น”

“อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฟู้ดทรัคที่มีศักยภาพ ส่วนใหญ่ยังต้องการความรู้ความเข้าใจ เรื่องการขยายธุรกิจฟู้ดทรัครูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การตรวจประเมินและปรับปรุงความพร้อมของธุรกิจ โครงสร้างราคาแฟรนไชส์ กลยุทธ์การตลาด การเฟ้นหาแฟรนไชส์ซีที่เหมาะกับธุรกิจตนเอง การเตรียมระบบไอทีมารองรับเพื่อลดขั้นตอน ลดข้อผิดพลาด ข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถสร้างระบบแฟรนไชส์ที่ยั่งยืน สอดคล้อง เหมาะสมกับคนไทย โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบแฟรนไชส์ต่างประเทศมากเกินไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน”

“ข้อได้เปรียบต่างๆ ของฟู้ดทรัคทำให้แนวโน้มการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้ลงทุน ในขณะที่ภาครัฐยังให้การสนับสนุนส่งเสริมผ่านการฝึกอบรม สัมมนา งานอีเว้นท์ และการโปรโมทธุรกิจฟู้ดทรัคอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการขยายตัวของรถฟู้ดทรัคในรูปแบบแฟรนไชส์ มีโอกาสเติบโตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สร้างเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”

“ขอเชิญชวนผู้ที่กำลังหาโอกาสทางอาชีพหรือธุรกิจและผู้สนใจ เข้าร่วมงาน “มหกรรมหลักประกันทางธุรกิจและการนำทรัพย์เข้าถึงแหล่งทุน” ระหว่างวันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สวนเทพปทุม จังหวัดปทุมธานี โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้สิทธิโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4939 e-Mail : stro@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2565 เวลา : 19:16:31
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 12:54 am