การค้า-อุตสาหกรรม
เปิดฉากไทยเจ้าภาพเอเปค ปี 65 สศก. จัดประชุม PPFS และคณะทำงานร่วม PPFS - OFWG ชูแนวทางของไทย 'OPEN CONNECT BALANCE'


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมภายใต้เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบด้วย 2 การประชุม ได้แก่ การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (APEC Policy Partnership on Food Security Plenary: PPFS) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 และ การประชุมร่วมของหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหารและคณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง (OFWG) จัดขึ้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ ทั้งนี้ ถือเป็นการเปิดฉากการประชุมเอเปคพร้อมกันทั้งประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565


 
สำหรับการประชุม PPFS (วันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2565) นับเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย และดำเนินงานความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค โดยมี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. เป็นประธานการประชุม และ ผู้แทนจากนิวซีแลนด์ ผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา และ ดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC)  ทำหน้าที่รองประธานการประชุมร่วมกัน
 
 
 
 
 
โดยไทยได้นำเสนอหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 ของไทย คือ “OPEN, CONNECT, BALANCE” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และสนับสนุนให้โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) เป็นแนวคิดพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยุคหลังโควิด-19 ที่ต้องสร้างความเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน การเปิดเสรีการค้าการลงทุน 
 
 
 
 
 
นอกจากนี้ ได้รายงานความคืบหน้าด้านความมั่นคงอาหารของไทย ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การขับเคลื่อนนโยบาย 3S ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากากรระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตร รายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) และโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง ตลอดจนความร่วมมือกัน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) ในการจัดทำโครงการจุดสาธิตการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
 
 
 

 ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงอาหารที่สำคัญ ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสูญเสียอาหาร การสร้าง Platform ออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงอาหาร การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการสร้าง Smart Farmers และ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตรและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร และให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร เป็นต้น
 
 

ขณะที่การประชุมร่วมระหว่างคณะทำงาน PPFS และ OFWG (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นเวทีหารือระหว่าง 2 คณะทำงาน เพื่อนำเสนอกิจกรรมที่มีความสอดคล้องการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยมี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งได้มีการเสนอแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปคเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนำเสนอร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปคปี 2022 อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ในการผลักดันการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
 
 

“สำหรับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 และร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค ปี 2022 มีความสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันความมั่นคงอาหารและการเกษตร ที่เน้นการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และ Sustainability ผ่านการส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ และ ที่สำคัญ คือ การเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วย BCG Model ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณสมาชิกเอเปคทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุน ส่งผลให้การประชุมประสบความสำเร็จและผ่านไปด้วยดี และถือเป็นโอกาสอันดีของไทย และสมาชิกเอเปคที่ได้จับมือร่วมกันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารของภูมิภาคเอเปคให้ยั่งยืน” เลขาธิการ สศก. กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2565 เวลา : 19:37:50
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 12:40 am