บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (“DOD”) โชว์ศักยภาพด้านการพัฒนาวิจัยคิดค้นสูตรนวัตกรรม และการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ สู่ New S-Curve ดัน“สยาม เฮอเบิล เทค” ลุยโรงสกัดสารสกัดจากกัญชงเต็มสูบ เล็งสกัดสารสำคัญกัญชงต่อยอดการผลิตธุรกิจหลัก (Core Business)ประกาศอัดงบลงทุน 200 ล้านบาท เพิ่มไลน์ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร – โรงสกัดสารกัญชง
นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน)หรือ “DOD” เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐได้ประกาศปลดล็อคให้กัญชง สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้อย่างเสรี บริษัทฯ ได้เล็งเห็นโอกาสในการลงทุนดังกล่าว จากความเชี่ยวชาญของ DOD ในด้านการพัฒนาวิจัยคิดค้นสูตรนวัตกรรมและการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีจุดแข็งและความพร้อมด้านโรงสกัดวัตถุดิบ ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพร สู่การต่อยอดไปยังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดธุรกิจใหม่อย่าง ธุรกิจโรงสกัดสารสกัดจากกัญชง-กัญชา พืชกระท่อม และพืชสมุนไพรไทย ภายใต้ “บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด” (SHT) โดยมีทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมา DOD สามารถตอกย้ำการเป็นผู้พัฒนาและต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้อย่างครบวงจรแบบ One Stop Service Solution ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ทั้งนี้บริษัทฯมองว่าจากแผนการวางกลยุทธ์การปรับโมเดลธุรกิจ และการต่อยอดธุรกิจโรงสกัด ในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ New S-Cure อย่างเต็มรูปแบบในปี 2565
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน สู่ New S-Cure ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ตั้งงบสำหรับการลงทุน (CAPEX) ไว้ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งมาจากกระแสเงินสดของกิจการเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยการนำนวัตกรรมการผลิตในรูปแบบใหม่ๆเข้ามาเพื่อต่อยอดและตอบโจทย์การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกี่ยวกับ กัญชง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯมียอดออเดอร์การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่สกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีการทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าบางส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันบริษัทฯได้เตรียมขยายไลน์การผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบ เจล และ เจลลี่ ที่มีความนิยมค่อนข้างมากในประเทศเกาหลีใต้ และ ประเทศญี่ปุ่น โดยในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมที่มากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาสูตรพัฒนา แพคเกจจิ้ง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ในไตรมาส2/2565
ส่วนงบลงทุนอีก 100 ล้านบาท บริษัทฯเตรียมนำไปขยายการลงทุนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการด้านสกัดให้มีขีดความสามารถในการสกัดสารออกมาให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯยังได้มีการเจรากับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตจากต่างประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ที่มีความต้องการที่จะเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างฐานการผลิตด้านการสกัดสาร สำหรับรองการขยายตลาดไปในภูมิภาค โดยมองทั้งการร่วมลงทุน และการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/2565
“ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจมีการชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาจนฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค DOD เริ่มมีการวางแผนในการปรับโครงการธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯจึงเห็นควรว่าต้องมีการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเครือข่าย(บริษัท พีซีซีเอ แล็บบอราเทอรี่ จำกัด (PCCA), บริษัท อัลทิมา ไลฟ์ จำกัด) เพื่อหยุดการขาดทุนต่อเนื่อง และเพิ่มไลน์ธุรกิจเกี่ยวกับโรงสกัด เพื่อเน้นสารสกัดจากกัญชง พืชกระท่อม และพืชสมุนไพรไทย (บริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด) เพื่อให้ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจหลักแทน ซึ่งการดำเนินกลยุทธ์ Backward Integration จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างมั่นคง โดยจะผลักดันให้ DOD ก้าวสู่ New S-curve เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการเติบโตครั้งใหม่ ซึ่งนั่นก็รวมถึงมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อให้สอดรับการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน ”
ด้านนางสาวสุวารินทร์ ก้อนทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน “DOD” กล่าวว่า แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) จนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2564 ทำให้มีรายได้จากการขายจำนวน 1,015.32 ล้านบาท ลดลง 62.01 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 5.76 และกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 307.78 ล้านบาท ลดลง 46.45 ล้านบาท หรือลดลงในอัตราร้อยละ 13.11 อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมีกำไรสำหรับปีจากการดำเนินงานต่อเนื่องลดลงจาก 290.78 ล้านบาท เป็น 233.11 คิดเป็นอัตราร้อยละ 19.83 แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงและเปราะบางทำให้บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงเห็นควรว่าต้องมีการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อย 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเครือข่าย
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทำให้กำไรส่วนของบริษัทใหญ่ลดลง 49.79 ล้านบาท ลดลงในอัตราร้อยละ 64.75 เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทเล็งเห็นว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สำหรับฐานะทางการเงินของบริษัทยังมีสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงินในระดับที่แข็งแกร่งพิจารณาได้จากอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) เท่ากับ 2.42 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) เท่ากับ 0.29 เท่า
ข่าวเด่น