ธนาคารทิสโก้แนะอาศัยจังหวะหุ้นร่วงถึงจุดต่ำสุดรับวิกฤตรัสเซีย - ยูเครน ใช้กลยุทธ์ Buy on Dip ซื้อหุ้นกลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง ชี้ตามสถิติหุ้นมักจะปรับขึ้นภายใน 10 วันนับจากเกิดเหตุการณ์นำทหารบุกโจมตี
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Public Company Limited) เปิดเผยว่า จากการประเมินข้อมูลในอดีตช่วง 80 ปีที่ผ่านมาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) พบว่า ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ซึ่งมักชี้นำทิศทางการลงทุนของตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกนั้น จะปรับตัวลดลงรับข่าวในระยะสั้นเฉลี่ย 5% ในเวลาประมาณ 20 วัน
นอกจากนี้ ข้อมูลในอดีตยังพบว่า ตลาดหุ้นมักจะฟื้นตัวขึ้นได้ภายในกรอบระยะเวลา 10 วัน ก่อนหรือหลังการบุกโจมตี ทำให้ธนาคารทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นได้มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันไปมากพอสมควรแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วในเร็วๆ นี้
“ถึงแม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะยากที่จะคาดการณ์ แต่เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น (S&P 500) ในอดีต พบว่า ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลงราว 5 - 10% ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดหุ้นได้ปรับตัวลงมาแล้ว 8% จากระดับในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนว่าตลาดหุ้นมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาวันที่เป็นจุดกลับตัวของตลาดหุ้น พบว่า ดัชนี S&P 500 มักจะฟื้นตัวขึ้นในช่วง 10 วัน ก่อนหรือหลังวันที่มีการเข้าบุกรุก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในรอบก่อน ซึ่งตลาดหุ้นรีบาวน์ขึ้น 15 วัน ก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารเข้าไครเมีย หากนับวันที่รัสเซียโจมตีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า เป็นวันที่บุกรุก ก็ชี้ว่า ตลาดหุ้นอาจจะเริ่มฟื้นตัวเร็วๆ นี้” นายณัฐกฤติกล่าว
ดังนั้น จากสถานการณ์ข้างต้น ธนาคารทิสโก้จึงประเมินว่า หุ้นได้เข้าสู่ช่วงจุดต่ำสุดแล้ว ตลาดจะกลับมาให้น้ำหนักที่ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อ จึงแนะนำให้ “ซื้อ” ด้วยกลยุทธ์ Buy the Dip ในหุ้นกลุ่มที่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง รวมทั้งประเทศที่ยังคงเดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม
นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มประเทศที่น่าสนใจลงทุนสู้เงินเฟ้อ และ Valuation ไม่สูง ประกอบด้วย กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม โดยแต่ละประเทศมีปัจจัยสนับสนุนคือ ยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า การเติบโตของยุโรปอยู่ที่ 3.9% และญี่ปุ่นเติบโต 3.3% ด้านประเทศจีนมีความน่าสนใจตรงที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำเปิดช่องให้ธนาคารกลางจีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือการปรับลด RRR ตามที่ได้เห็นธนาคารกลางจีนเริ่มทำในช่วงต้นปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนที่คาดว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.8%
และสุดท้ายคือ ประเทศเวียดนามโดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึง 6.6% ในปีนี้ และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อย โดยมีอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.94% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงจากระดับ 6% ในปี 2563 มาสู่ 4% ในปี 2565 คิดเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3 ครั้งด้วยกันยิ่งไปกว่านั้นจีนและเวียดนามนอกจากจะไม่ได้อยู่ในช่วงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ยังสามารถดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดยที่มูลค่าหุ้นของทั้ง 4 ประเทศยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) ที่มีอัตราปิดต่อกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า 12 เดือน (Forward 12m P/E) อยู่ในระดับ 19.2 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป (STOXX600) อยู่ที่ 13.9 เท่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX) อยู่ที่ 12.4 เท่า ตลาดหุ้นจีน (CSI300)อยู่ที่ 13.3 เท่า,และตลาดหุ้นเวียดนาม (VN) 13.3 เท่า
สำหรับ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนสู้เงินเฟ้อ คือ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง (Consumer Discretionary) ซึ่งบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ใช้สินค้าและบริการมากกว่าเพียงการใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้หุ้นทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวในปัจจุบัน
โดย TISCO ESU ได้ลองเปรียบเทียบอัตรากำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในดัชนี S&P 500 ในช่วงไตรมาส 4/2564 และไตรมาส 2/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจาก 5.0% เป็น 7.0% พบว่า หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแบรนด์แข็งแกร่งมีอัตรากำไรสุทธิที่ 25% และ 8% ตามลำดับ (4/2564) สามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้บางส่วนในช่วงที่ผ่านมา ต่างจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงราว 3 - 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ กลุ่มการเงิน (Financial) และหุ้นสาธารณูปโภค (Utilities)
ข่าวเด่น