เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในทุกวันนี้ นอกจากจะไม่สามารถขายสินค้าที่ตนเองผลิตได้ในราคาที่สะท้อนต้นทุนแล้ว ใครจะรู้บ้างว่าการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร มีต้นทุนหลายส่วนให้แบกรับ ทั้งค่าบริหารจัดการ ค่าพันธุ์และอาหารสัตว์ ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ค่าเวชภัณฑ์สัตว์
นับตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซี่งถือเป็นภาระหนักของผู้เลี้ยงเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 60 – 80% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นไปอีก จากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาธัญพืชสำคัญทั้งข้าวสาลี ที่ทั้งสองประเทศถือเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายสำคัญคิดเป็นหนึ่งในสี่ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก และเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หนึ่งในห้าของปริมาณผลผลิตทั้งโลก
ดังที่ ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า สงครามนี้เสี่ยงต่อการซ้ำเติมปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานให้หนักขึ้น ที่สำคัญการสู้รบระหว่างสองประเทศ เสี่ยงกระทบราคาสินค้าหลายชนิด จากการที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตสำคัญในสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าต้นน้ำในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอื่น อาทิ น้ำมัน ข้าวสาลี นอกจากนี้ ผลจากการที่รัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ มีแนวโน้มทำให้ในอนาคตอันใกล้ ถ้าสงครามยืดเยื้อ ราคาสินค้าดังกล่าวเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่รัสเซียก็เสี่ยงที่จะจำกัดการส่งออกสินค้าเหล่านี้ เพื่อตอบโต้หรือใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยน
การคาดการณ์ผลกระทบของสงครามของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว เห็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว จากราคาพืชอาหารสัตว์สำคัญปรับขึ้นทันที โดยข้าวสาลีราคาปรับขึ้นมาแล้ว 43% กากถั่วเหลืองราคาเพิ่มขึ้น 15% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับขึ้น 14% กลายเป็นความกังวลในกลุ่มผู้นำเข้า ว่าซัพพลายธัญพืชจะเกิดภาวะชะงักงัน เพราะต่อให้สงครามยุติลงในวันนี้ แต่การส่งออกก็ต้องใช้เวลาเดือนครึ่งถึงสองเดือน กว่าจะกลับมาดำเนินการได้ เท่ากับเกษตรกรไทยต้องเสี่ยงกับปัญหานี้อย่างแน่นอน
นับตั้งแต่ภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้นน้ำ ที่มีต้นทุนการผลิตสูงเป็นประวัติการณ์ จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นทุกประเภท ซ้ำยังขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญอย่างข้างโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ความต้องการใช้ต่อปีมีเกือบ 8 ล้านตัน แต่ตอนนี้ไทยไม่มีผลผลิตข้าวโพดเข้าสู่ตลาดแล้ว ผลผลิตยังขาดไปถึงกว่า 3 ล้านตัน แล้วยังติดปัญหามาตรการ 3:1 ของรัฐ ที่จะต้องซื้อผลผลิตข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน แต่เมื่อไทยไม่มีข้าวโพดแล้ว เท่ากับไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีมาทดแทนได้ เมื่อจะหันมาพึ่งพากากถั่วเหลืองแทน ก็มีภาระภาษีนำเข้า 2% อีก เมื่อไม่เห็นทางออก ก็ไม่แปลกที่ผู้ผลิตอาหารจะทยอยลดการผลิต หรือปิดสายการผลิตไปก่อน
ผลที่ตามมาคือเกษตรกรผู้เลี้ยงกลางน้ำ ต้องขาดแคลนปัจจัยการผลิตสำคัญอย่างอาหารสัตว์ทันที การเลี้ยงสัตว์ต้องหยุดชะงักเพราะไม่มีอาหารสัตว์ป้อนในกระบวนการ ปริมาณเนื้อสัตว์และสินค้าโปรตีนย่อมหายไป และยังมีภาระต้นทุนอื่นๆให้แบกรับ โดยเฉพาะต้นทุนการป้องกันโรคในฟาร์มปศุสัตว์ ที่ต้องยกระดับอย่างเข้มงวด ไม่ให้โรคระบาดในสัตว์และโรคโควิดในคน เข้าไปกระทบกับฝูงสัตว์ ต้นทุนส่วนนี้นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
อีกส่วนสำคัญคือราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามยูเครนทำให้ระดับราคาปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นต้นทุนค่าพลังงานที่หนักอึ้งสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะในฟาร์มที่ใช้ระบบการเลี้ยงแบบปิดที่มีพัดลมขับเคลื่อนด้วยน้ำมันทำให้มีต้นทุนสูง ยังไม่รวมต้นทุนค่าน้ำกินน้ำใช้สำหรับสัตว์ ที่คนเลี้ยงเตรียมต้องควักเงินจ่ายในฤดูร้อนนี้ ที่คาดว่าจะรุนแรงไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10%
ปัญหาต้นทุนที่รุมเร้าและความกังวลต่อความเสี่ยงในอาชีพ ทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจหยุดเลี้ยงสัตว์ทั้งเกษตรกรฟาร์มไก่ ฟาร์มไก่ไข่ และฟาร์มหมู ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่การบริโภคยังมีต่อเนื่อง หากแต่การจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ กลับถูกตรึงราคาไว้ เพื่อหวังดูแลปากท้องประชาชน จนอาจลืมไปว่าเกษตรกรก็คือประชาชนคนหนึ่ง ที่ทำอาชีพเพื่อหวังเลี้ยงตัวเอง เมื่อไม่มีทางออก ไปต่อไม่ไหวก็จำต้องเลิกอาชีพ ท้ายที่สุดคนรับผลของเรื่องนี้คือประชาชนที่ต้องขาดแคลนอาหารโปรตีน ถึงวันนั้นกว่าจะมาพลิกฟื้นอาชีพกันใหม่ก็ใช้เวลาไม่น้อย
สิ่งที่ภาครัฐรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการคือ การหามาตรการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อจากนี้ ถึงเวลาที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือคนเลี้ยงสัตว์ จากที่ผ่านมาภาคผู้เลี้ยงให้ความร่วมมือกับภาครัฐตรึงราคาสินค้าเอาไว้เพื่อช่วยทั้งผู้บริโภค และยังช่วยพี่น้องเกษตรกรด้วยการซื้อวัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองในราคาแพง แต่เกษตรกรต้องขายไก่ ขายไข่ในราคาถูก ทั้งที่จริงๆควรเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่ผู้เลี้ยงสัตว์
นาทีนี้เกษตรกรขอเพียง “หยุดตรึงราคาสินค้า” ทั้งไก่ ไข่ไก่ รวมถึงสินค้าเกษตรทุกชนิด “ปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน” อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนในหมูที่สำเร็จมาแล้วจากการที่รัฐไม่ตรึงราคาสินค้า ให้ตลาดเป็นไปตามกลไกอุปสงค์อุปทาน ต้นทุนเกษตรกรยังพอรับได้ เพราะราคาสะท้อนต้นทุน แม้ตอนนี้ราคาขายมีแนวโน้มต่ำลงก็ตาม แต่เกษตรกรยังมีกำลังใจสู้ต่อ หากภาครัฐทำได้เช่นเดียวกันนี้ ก็ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกร ให้ได้มีแรงผลิตอาหารป้อนคนไทยต่อไป
ข่าวเด่น