คริปโตเคอเรนซี่
Scoop ชาวคริปโตรู้กันหรือยัง? ครม.ไฟเขียว ยกเว้น "การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม" ไปจนถึงสิ้นปี 2566


 

 

 

ท่าทีของรัฐที่ตั้งใจจะเข้ามากำกับดูแล หรือควบคุม Digital Asset ตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ผ่านมา ชาวคริปโตคงรู้สึกร้อนๆหนาวๆเสมือนกับนั่งอยู่บนรถไฟเหาะ กับเรื่องของการเก็บภาษีเหรียญคริปโต ที่เริ่มแรกได้สร้างความตกอกตกใจกันทั้งวงการคริปโต เมื่อทางกรมสรรพากรได้ออกมาประกาศจัดเก็บภาษีผู้ที่ได้กำไรจากคริปโต ตามกฎหมายพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ว่าจะเรียกเก็บจากการเทรดเหรียญคริปโตแต่ละครั้งที่ได้กำไร โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากจำนวนกำไรที่ได้ แต่ไม่สามารถนำครั้งที่เทรดขาดทุนมาหักลบกำไรก่อนยื่นภาษีได้ แถมผู้เทรดยังต้องแสดงกำไรไปยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวนอีกด้วย เรียกได้ว่าเสียทั้งขึ้นทั้งร่อง แถมการต้องยื่น Transaction ที่ได้กำไรทุกครั้งโดยไม่สนว่าผู้เทรดจะขาดทุนเท่าไหร่ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเนืองแน่น ทั้งผู้เทรด และบุคคลที่มีอิทธิพลหรือชื่อเสียงในวงการคริปโต ทำให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการออกมาประชุมหารือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน จนเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้ออกแนวทางการผ่อนปรนการคำนวณภาษี โดยอนุโลมให้ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15%และการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบกับ Transaction ที่เราเทรดแล้วได้กำไรก่อนยื่นเสียภาษีได้


และล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้คลายความกังวล และสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ที่อยู่ในตลาดคริปโตมากขึ้น โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เปิดเผยผลการประชุมครม. ระบุว่า ครม.ตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ละเว้นภาษีคริปโต พร้อมทั้งเสนอร่างกฎหมายละเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีรัษฎากรสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวนทั้งหมด 3 ฉบับ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการพัฒนาระบบชำระเงิน และส่งเสริมเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เดือนเมษายน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566

มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้วไหม?

ใจความของการประกาศโดย ครม.ล่าสุดนี้ คือ เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้เทรดคริปโตว่า นอกจากการยกเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 15% ก็ยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำส่วนขาดทุนมาลบกับกำไรได้นั้นจะยิงยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยมีสาระสำคัญจากการที่ ครม.ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. และร่างกฎกระทรวง ประกอบด้วย

1. ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ โดยมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโตเคอเรนซี่ หรือ โทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (หรือก็คือเวลาเราโอนเหรียญใน Exchange เราจะไม่ถูกเก็บค่า VAT) และนอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอน CBDC (สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 จนถึง 31 ธันวาคม 2566

2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล 1 ฉบับ โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอเรนซี่หรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้มากเกินกว่าเงินลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน (หรืออธิบายง่ายๆ คือ ก่อนยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำส่วนเฉพาะที่เป็นกำไรจากการเทรด ลบด้วยผลขาดทุน เหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งการคำนวณภาษีดังกล่าวจะทำให้เงินภาษีที่ต้องจ่ายลดลง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ทางครม.ต้องการบรรเทาภาระภาษีประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวน ยากต่อการแสดงราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการรองรับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนาระบบการชำระเงิน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งก็คือ โครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency หรือ Retail CBDC) เป็นการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ของ Retail CBDC ในการรับ แลกเปลี่ยน โอน หรือเป็นสื่อกลางในการชำระราคา โดยกรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันภาระภาษีสำหรับคริปโตที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ก็เปิดทางให้กับการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยนี้เอง

สรุปให้กันเข้าใจกันทุกคนจากการประกาศของกรมสรรพากรก่อนหน้านี้ และมติของครม.ปัจจุบัน จะได้ความว่า เราชาวคริปโตในไทยจะไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15%, ยังต้องเสียภาษีบุคคลเงินได้ธรรมดา แต่คิดจากส่วนที่เป็นกำไรลบกับส่วนที่ขาดทุนได้ภายในปีภาษีนั้นๆ และเราไม่ต้องเสียค่า VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่มใน Exchange แต่จะมีระยะเวลาจำกัด ที่จะมีผลยาวไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปีหน้านั้นเอง เรียกได้ว่าทางรัฐเองก็ยังรับฟัง และไม่ได้ปิดกั้นเรื่องใหม่ๆของโลกดิจิทัลนัก ซึ่งในอนาคตข้างหน้า เราคงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะมีมาตรการหรือบทกฎหมายอะไรมาควบคุม Digital Asset อีก และเมื่อวันนั้นมาถึง เราก็ควรใช้เสียงของตัวเองสะท้อนกับไป เพื่อเจรจาหาจุดกึ่งกลาง อันที่จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยการใช้ Materials ในโลกดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ เพื่อก้าวทันนานาประเทศ

LastUpdate 13/03/2565 00:39:53 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:16 am