นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังการประกาศเปิดฉากสงครามกับยูเครน ของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จวบจนมาถึงสัปดาห์นี้ ก็เป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์แล้ว ที่สถานการณ์ยังคงอยู่ในสภาวะตึงเครียด แม้เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าบรรยากาศจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม จากการที่ยูเครนนั้นมีท่าทีที่จะไม่เข้าร่วมนาโต (Nato) และทางรัสเซียเองก็ได้เผยถึงความคืบหน้าด้วยดีในการเจรจากับยูเครน แต่ล่าสุดคงต้องกลับคำพูดเสียใหม่ เมื่อการเจรจาของรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่าย ที่เกิดขึ้นในวันต่อมาในประเทศที่มีสถานะเป็นกลางอย่างตุรกีนั้น การประชุมที่เกิดขึ้น กินเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะไม่ได้มีข้อยุติใดๆ หรือนำไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ ทำให้ราคาทองที่ดูดรอปตัวลงนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 10 มีนาคม เวลา 18.15 น. ราคาทองคำฟิวเจอร์ขยับเพิ่มขึ้น 23.70 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ (+1.19%) (ตามกลไกของสภาวะสงครามว่า หากโลกอยู่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จะมีการย้ายทรัพย์สินเพื่อรักษาสถานภาพทางการเงินไว้ในทอง หากสงครามมีท่าทีว่าคลี่คลายลง ผู้คนก็จะแปลงทองกลับไปเป็นเงินสดตามเดิม) และราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นมา 4.42 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาร์เรล (+4.07%)
สถานการณ์สงครามที่ยังคงยืดเยื้อ และมีทีท่าว่าจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดนั้น ยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องทั้งกับยูเครนและรัสเซีย โดยในทางด้านประเทศรัสเซีย การที่ถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากนานาประเทศในซีกโลกตะวันตก ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในภาคเศรษฐกิจของรัสเซีย ทั้งค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลง การตัดธนาคารรัสเซียหลายแห่งออกจาก SWIFT ที่ทำให้โอนเงินระหว่างประเทศไม่ได้ การระงับระบบชำระเงินต่างๆ อย่าง Visa, Mastercard, Google Pay และ Apple Pay ซึ่งทำให้ประชาชนชาวรัสเซียนั้นเดือดร้อน จากอำนาจในการจับจ่ายที่ลดลง รวมถึงทางด้านของหุ้น ทั้งหุ้นดัชนี RTS และหุ้นอื่นๆ สัญชาติรัสเซีย ก็ได้ดิ่งลงเหวตามกันไป เนื่องจากการคว่ำบาตรดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างหนีตาย แย่งกันกระโดดออกจากเรือสำราญลำใหญ่ ที่คนส่วนใหญ่ในตลาดต่างคิดว่ามันกำลังจะจมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ในยามที่ตลาดหุ้นรัสเซียกำลังเกิดความกลัว ก็ได้มีผู้กล้าที่เป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวอย่างจีน เข้ามา Buy the Dip หุ้นในบริษัทพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศ
มหาอำนาจอย่างจีนนั้น ถือได้ว่าเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นถึงขนาด สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ถึงกับเคยออกปากว่า วลาดิมีร์ ปูติน นั้นเป็นมิตรแท้ และทางวลาดิมีร์ ปูตินเอง ก็ยกย่องว่าความสัมพันธ์ของรัสเซียกับจีนนั้นอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือว่าเป็นแบบอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลยทีเดียว ซึ่งสถานการณ์สงครามในขณะนี้ จีนกับรัสเซีย ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากันตามปกติ เพราะจีนนั้นไม่ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียตามชาติตะวันตก แม้จะแสดงบทบาทค่อนข้างจำกัดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับทางสหรัฐอเมริกา ที่ทางจีนไม่ได้แสดงความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแบบโต้งๆ กับรัสเซีย แต่สิ่งที่จีนทำ คือการมองหาโอกาสในวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ การกำลังเข้าไปช้อปปิ้งซื้อหุ้นที่ราคากำลังอยู่ช่วง Sale ลดกระหน่ำ ในหุ้นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง Gazprom และบริษัท United Co. Rusal International ผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่
ผู้อ่านหลายๆ คน คงทราบว่ารัสเซียนั้น เป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันรายยักษ์ใหญ่ของโลก การโดนคว่ำบาตรที่มีสาระสำคัญอย่างการแบนการส่งออกด้านพลังงานของรัสเซีย (ที่ทางตะวันตกต่างแห่ถอนทุน หรือเทขายหุ้นทิ้งออกไป) ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไปทั่วโลก เพราะเราจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบต่างปรับตัวสูงขึ้น (มองใกล้ตัวได้ง่ายๆ อย่างราคาน้ำมันในบ้านเราที่ขึ้นเอาๆทุกวัน) ซึ่งน้ำมันนั้น ก็เป็นส่วนสำคัญทั้งในด้านของภาคการผลิต การขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม หรือเรียกได้อีกอย่างว่า มันคือต้นทุนในกระบวนการ Supply Chain จึงเป็นที่เข้าใจได้เลยว่า สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนในการใช้ชีวิตของเราจะมากขึ้นกว่าเดิม และความมั่นคงทางการเงินของเราก็จะสั่นคลอนได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
การที่จีนนั้นได้เตรียมกวาดซื้อหุ้นพลังงาน Gazprom บริษัทพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของรัสเซีย ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ชาติได้ลงนามข้อตกลงทางการค้า15 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้ครอบคลุมถึงข้อตกลงด้านบริษัทพลังงาน Gazprom ที่จีนจะเพิ่มการนำเข้าพลังงานจาก 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็น 48,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี โดยเราจะเห็นว่า จีนนั้นเป็นอีก 1 ประเทศที่ต้องพึ่งการนำเข้าด้านพลังงาน การที่จีนมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ผู้ซึ่งส่งออกพลังงานรายใหญ่ ที่ไม่ได้คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันเหมือนกับประเทศอื่น แต่ยังทำการค้าตามข้อตกลงข้างต้น และยังเข้าไปลงทุนใน Gazprom อีก ในช่วงที่ได้สัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นสูงขึ้นในราคาที่ถูกลง สะท้อนให้เห็นได้ว่าจีน ได้เล็งเห็นโอกาสอันเป็นประโยชน์ในสภาวะวิกฤติ และไม่รีรอที่จะมุ่งสร้างฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศ และเสถียรภาพทางด้านการเงิน (นับตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ที่ธนาคารกลางของประเทศ ได้มีการโอนเงินมากกว่า 1,000 ล้านหยวน ซึ่งเป็นผลกำไรจากธนาคารของจีน เข้าเป็นส่วนกลางของรัฐ เพื่อคงสภาพคล่องและเสถียรภาพด้านการเงิน) ซึ่งในที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของการกระทำนี้ จะเป็นการเพิ่มบุญบารมีของการเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่นับจากนี้ไปยังอนาคต จะยิ่งทวีความยากต่อการต่อกรมากขึ้นไปอีก
ข่าวเด่น