การค้า-อุตสาหกรรม
นักวิชาการปศุสัตว์ วอน "เลิกคุมราคา ปล่อยอาหารสัตว์ ไก่ ไข่ เป็นอิสระ ก่อนพังยกแผง"


 

 
 
การสู้รบกันระหว่างรัสเซียและยูเครน เกิดผลกระทบทางตรงและทางอ้อมกับทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงสินค้าที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อาทิ ธัญพืชสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ทั้งข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับราคาขึ้นทันที โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 5.1% และราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนที่ผ่านมา สะท้อนความไม่แน่นอนในปัญหาที่เกิดขึ้น จากท่าเรือทะเลดำที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามนี้

ภาวะราคาธัญพืชปรับขึ้นไม่ใช่เกิดเพียงในสองประเทศ แต่ยังผลักดันให้ธัญพืชทั่วโลกปรับราคาตามกลไกตลาด ขณะที่ไทยเองต้องพึ่งพาการนำเข้าธัญพืชหลายชนิดเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินาในปริมาณมาก ซึ่งขณะนี้ราคาสูงขึ้นเช่นกันจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

 

เรื่องราคาวัตถุดิบสูงขึ้นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด หากแต่เป็นต้นทุนที่ภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรต้องแบกรับมา ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30% ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เสนอต่อภาครัฐให้พิจารณามาตรการรองรับโดยเร็ว ด้วยเกรงว่าต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ จะกระทบกับความสามารถในการผลิตอาหารสัตว์ จนถึงขั้นต้องปิดไลน์ผลิต ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคผู้เลี้ยงและการผลิตเนื้อสัตว์ลดลง กระทั่งเกิดปัญหาขาดแคลนในที่สุด

สิ่งที่ภาคผู้ผลิตเสนอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาแก้ปัญหาในระยะสั้น ประกอบด้วย 1. ยกเลิกมาตรการ 3 : 1 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวสาลีได้โดยเสรีจากหลายแหล่งผลิตทั่วโลก ส่งผลให้ราคาการซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาดโลก 2. ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต และ 3. เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO และAFTA ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565 เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ทำให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี และลดต้นทุนการผลิต

โดยเฉพาะปัญหาหนักสุดในตอนนี้ คือมาตรการรัฐในการแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับภาคผู้เพาะปลูก โดยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดในประเทศราคา 8.50 บาทกิโลกรัม หวังป้องกันไม่ให้การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศส่งผลกระทบราคาในประเทศ ด้วยการกำหนดอัตราซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้า 1 ส่วน หรือมาตรการ 3 ต่อ 1 แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณข้าวโพดที่ผลิตในประเทศผลิตได้เพียง 4.5 ล้านตันต่อปี ถึงแม้ภาคการผลิตอาหารสัตว์จะใช้วัตถุดิบนี้ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็สามารถนำเข้าได้เพียง 1 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมนี้มีมากถึง 8.5 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดวัตถุดิบอีกถึง 2-3 ล้านตัน 

 

เมื่อรัฐปิดทางการหาวัตถุดิบทดแทนด้วยมาตรการนี้ รัฐก็ควรแก้ปัญหาด้วยการ “ลดกำแพงภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง" จากอัตรา 2% เป็น 0% เพื่อให้กากถั่วเหลืองนำเข้ามีราคาต่ำลดลง ซึ่งไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูกของไทย ที่ผลิตได้ในจำนวนจำกัดและใช้ภายในประเทศในอุตสาหกรรมอื่นๆทั้งหมดอยู่แล้ว 

หากแต่วันนี้ นอกจากภาครัฐจะนิ่งเฉยกับข้อข้อเรียกร้องเหล่านี้แล้ว ยังควบคุมไม่ให้อาหารสัตว์ปรับราคาขายตามกลไกตลาดได้ นี่คือการซ้ำเติมทุกข์ของภาคผู้ผลิตต้นน้ำ ที่จะกลายเป็นระเบิดเวลาสำหรับภาคผู้เลี้ยงกลางน้ำ และผู้บริโภคปลายทาง ซึ่งปัจจุบันผลได้ปรากฏแล้ว จากการผลิตอาหารสัตว์ที่ปีนี้คาดว่าจะลดลงไปถึง 4-5 ล้านตัน จาก 22 ล้านตัน เหลือ 17-18 ล้านตัน ซึ่งลดลงต่ำกว่าเป้าหมายก่อนหน้านี้ที่ตั้งไว้ 19.08 ล้านตันด้วยซ้ำ 

เมื่อไม่สามารถหาวัตถุดิบมาผลิตอาหารสัตว์ได้ หรือแม้จะหามาผลิตได้แต่ก็ต้องขายในราคาขาดทุน ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์หลายแห่ง จึงจำเป็นต้องทยอยลดกำลังการผลิตอาหารสัตว์ลงบางส่วน สะท้อนการขาดแคลนวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่จะกระทบถึงปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์และห่วงโซ่ความมั่นคงอาหารของประเทศ

ยังโชคดีที่เรื่องนี้ถึงหู นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของพ่อค้าคนกลางทั่วประเทศโดยด่วน หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเข้าสู่ตลาดแล้ว แต่กลับพบว่าปริมาณข้าวโพดในตลาดมีน้อยผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับผลผลิตที่พ่อค้ารับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ดันให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งขึ้นทุกวัน เข้าข่ายพฤติกรรมการกักตุนสินค้า รวมทั้งกดดันผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้ต้องจ่ายราคาพิเศษเพิ่มขึ้นอีก “ถือเป็นการซ้ำเติมผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่กำลังเดือดร้อน”

 

เรื่องนี้ไม่ได้กระทบเพียงภาคผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้นน้ำเท่านั้น กลางน้ำอย่างเกษตรกรก็เรียกร้องไปถึงภาครัฐเช่นกัน นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ บอกว่า สมาคมฯยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ไปนานแล้ว เรื่องการควบคุมราคาต้นทุนการเลี้ยงไก่ เพราะราคาไก่หน้าฟาร์มขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 42-43 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่ 41-42 บาท ถือว่าขรายเกือบใกล้เข้าเนื้อแล้ว ซึ่งสมาคมยังคงตรึงราคาขายนี้เอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค

เกษตรกรขอให้รัฐบาลเร่งตรวจสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนสำคัญ 60-80% ในการเลี้ยง ถ้าสูงกว่านี้เกษตรกรก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะช่วงที่ผ่านมาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 12-14 บาทต่อกิโลกรัม น่าจะเกิดจากการกักตุนของพ่อค้าคนกลาง ราคาที่สูงขึ้นนี้คนได้ประโยชน์คือพ่อค้า เพราะของอยู่ในมือหมดแล้ว เกษตรกรไทยไม่ได้อะไรเลย รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเรื่องต้นทุนนี้ให้ได้ รวมถึงเร่งปรับมาตรการต่างๆ เพื่อให้นำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ไม่เพียงช่วยผู้เลี้ยงไก่ ยังเป็นการช่วยผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย

 

สำหรับภาคผู้เลี้ยงไก่ก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า แม้สงครามอยู่ไกลบ้านเรา แต่คำว่า ฝนตกบ้านน้อง ฟ้าร้อง (ผ่า) บ้านพี่ก็ไม่ปาน ทำให้เดือดร้อนแสนสาหัสกันไปหมดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ส่วนจะดันราคาสินค้าตามต้นทุน ก็เจอมาตรการของราชการขอร้องแกมบังคับ โดยที่ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกษตรกรเขาเดือดร้อนขนาดไหน ฉะนั้นการพึ่งพาตนเองดูแลตัวเองดีที่สุด วันนี้ขอให้ทุกรายการเลี้ยงรีบปลดไก่อย่ากักเก็บไว้ อย่าลืมว่าต้นทุนทุกตัวจะขึ้นราคาแพงมาก ถึงเวลานั้นเกษตรกรจะรับมือไม่ไหว เพราะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงเกิดขึ้นก่อนจะมีสงคราม 30-40 % แต่สงครามทำให้ราคาแพงขึ้นไปอีก วัตถุดิบในประเทศก็ปรับแพงขึ้นตามไปด้วย เกษตรกรต้องปรับตัวระวัดระวังการเลี้ยง อะไรที่ลดต้นทุนได้ก็ต้องทำ “ที่สำคัญราคาไข่ไก่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด รัฐไม่ควรคุมราคา”

วันนี้ไทยไม่ต่างอะไรกับหมู่บ้านกระสุนตกจากสงครามยูเครน ที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงทุกชนิด ลามมาถึงวัตถุดิบของไทย แต่เรื่องนี้จะไม่ใช่ทุกข์หนักของเกษตรกร หากพวกเขาสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสะท้อนต้นทุนการผลิต เกษตรกรยอมจ่าย ยอมเจ็บ แต่วันนี้สินค้าทุกชนิดถูก “ตรึงราคา” เกษตรกรต้องขายเท่าทุนหรือขาดทุนแล้ว ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ วิกฤติใหญ่ในเวลาอันใกล้คือ การถอดใจของผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกร ทางที่ดีภาครัฐต้องเร่งผ่อนคลายมาตรการที่รัดตรึง ทั้งเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และปล่อยราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งอาหารสัตว์ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ ใช้ความสำเร็จของราคาหมูเป็นบทเรียน และบทพิสูจน์ “กลไกตลาดเสรี”


บทความโดย : กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 มี.ค. 2565 เวลา : 12:22:08
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 2:47 am