
จากการเผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ประชุมไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนในตลาดลงทุนโดยรวม เนื่องมาจาก Fed ได้มีท่าทีที่จะเร่งทำ มาตรการ QT (Quantitative Tightening) หรือ การปรับลดขนาดงบดุล และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีระดับความรุนแรงสูงสุดในรอบ 40 ปี
ปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง และยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาวะสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงเรื้อรัง และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเร็วๆนี้ ซึ่งตามกลไกธรรมชาติเวลามีสงครามเกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตกาลจนมาถึงปัจจุบัน จะเกิดสภาวะของสินค้าขาดแคลน ทั้งพวกเสบียงอาหาร และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพราะนโยบายการเงิน และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐจะไหลไปสนับสนุนเป็นทุนในสงคราม เพื่อสนับสนุนกำลังทางทหารของประเทศ และรูปแบบนี้ก็ยังคงแพทเทิร์นเดิมมายังปัจจุบัน ยิ่งด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่นานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรตะวันตก ได้มีการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของแทบทุกประเทศนั้นชะงักงัน เพราะแก๊สและน้ำมันมีราคาสูงขึ้น และนั่นก็เท่ากับว่า Cost ในสายการผลิตก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย (การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค) มันจึงไม่แปลกที่ราคาสินค้าต่างๆ มีการปรับตัวที่สูงขึ้น เราจึงสามารถนิยามได้ง่ายๆ ว่า สงครามมันก็เป็นตัวการที่ทำให้เกิดหรือเป็นตัวเร่งสภาวะเงินเฟ้อขึ้นมานั่นเอง
โดยจากรายงานการประชุมพบว่า เสียงส่วนมากใน Fed มีความคิดเห็นว่าในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นลดขนาดงบดุลเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ลดวงเงินในพันธบัตรรัฐบาลลงเดือนละ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดวงเงิน MBS ลงเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของการขึ้นดอกเบี้ย เสียงส่วนใหญ่ของ Fed ก็สนับสนุนให้มีการขึ้นดอกเบี้ย 50 bps หรือ 0.50% (อ้างอิงข้อมูลจาก CME’s FedWatch Tool พบว่า ราว 75% ของนักลงทุนในตลาดคาดหวังให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หลังการประชุม Fed ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคมนี้) ซึ่ง Fed จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่จะสกัดไม่ให้เงินเฟ้อพุ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่บังคับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยจะมีการประกาศมาตรการอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนหน้าที่จะถึงนี้
แล้วมันมีผลเสียกับตลาดทุนอย่างไร?
การเผยแพร่รายงานการประชุมของ Fed (ที่มีการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม) เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนว่าเศรษฐกิจในสหรัฐจะเกิดการชะลอตัวลง หรือเข้าสู่สภาวะถดถอย จากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ในตลาดวอลล์สตรีท เกิดการเทกระจาดขายหุ้นครั้งใหญ่ โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 280.70 จุด หรือ 0.80% ปิดที่ 34,641.18 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 57.52 จุด หรือ 1.26% ปิดที่ 4,525.12 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 328.39 จุด หรือ 2.26% ปิดที่ 14,204.17 จุด ด้านของราคาทองคำ จากผลรายงานการประชุม ก็ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งราคาทองคำ COMEX (Commodity Exchange) ของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน 2565 ลดลง 4.40 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,923.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนในตลาดคริปโตก็ปรับตัวลงสัมพันธ์กับตลาดทุนโดยรวม โดยราคาของ Bitcoin ปิดอยู่ที่ 43,086.80 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.08%
จะเห็นได้ว่าแค่ Fed มีการส่งสัญญาณว่าอาจจะทำการปรับลดงบดุล และขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ทำให้ตลาดทุนโดยรวม (แม้ตลาด Digital Asset ก็หนีไม่พ้น) ตกอยู่ในสภาวะวิตกกังวล หรือเกิดความกลัว ทำให้เกิดการเทขายดังกล่าว และรอดูท่าทีที่แน่ชัดอีกที แต่แน่นอนว่าหากมีการประกาศอยากเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้าที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะทำตามนี้จริง ก็จะเป็นตัวกระตุ้นที่อาจทำให้สภาวะเศรษฐกิจนั้นเกิดการถดถอยอย่างเป็นทางการ และจะเกิดเป็นโดมิโน่ที่ส่งผลไปทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั้งหุ้น และสินทรัพย์ต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการเทขายอย่างรุนแรงและเลือดสาดกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เพราะในเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนในตลาดจะมีความหวนแหนสถานะความมั่งคั่งของตัวเองอย่าง
มาก และต่างหวาดกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองลงทุนไปอาจมีมูลค่าลดลง ตามนิยามของดัชนีชี้วัด Fear & Greed Index ที่เคยพูดถึงในบทความของ AC News “วัดความกลัวและความโลภของคนในตลาดคริปโตด้วย Fear & Greed Index มือใหม่รู้ก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง!” จึงมีการขายสินทรัพย์ที่ตัวเองมีไว้ในครอบครองเพื่อรักษาเงิน หรือกระแสเงินสดของตัวเอง และการที่เห็นว่ามีคนสละเรือขายทิ้งออกไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นปรากฏการณ์อย่างการกระโดดหนีตายของนักลงทุน ที่ต่างลดราคาของสินทรัพย์ที่ตัวเองสละแล้วลงเรื่อยๆ เสมือนสงครามราคาสินค้าที่ตลาดอยู่ในสภาวะ Oversupply เพราะความต้องการขายมีมากกว่าความต้องการซื้อ หากใครที่ออกไม่ทันก็ต้องก้มหน้ายอมรับสถานะติดดอยของตัวเอง และรอให้รถวิ่งขึ้นมารับ ซึ่งในสภาวะปัจจุบันที่มีปัญหาสงครามอยู่ ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า เศรษฐกิจจะฟื้นกลับตัวเมื่อไหร่
หากอยากหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคริปโตที่ครองชัยความผันผวนเป็นอันดับ1 สูงกว่าตลาดทุนต่างๆ ภายในเดือนเมษายนนี้ หรือก่อนการประชุมครั้งต่อไป ควรพิจารณาวางแผน TP (Take Profit) ตั้งขายในจุดที่พอใจ และไม่ “กาว” เกินไป อาจจะรอให้เกิดการรีบาวน์ขึ้นมาก่อน (จากความตกใจล็อตแรก ของการส่งสัญญาณของ Fed) แล้วค่อยแบ่งขายเป็นไม้ๆ ไปก็ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการถอนส่วนที่เป็นทุนออกมาให้หมด และกักเก็บกระแสเงินสดของตัวเองสำรองเพื่อรักษาอำนาจในการใช้จ่ายของเราเอาไว้ก่อน เมื่อจัดสรรปันส่วนตามดุลยพินิจของแต่ละคนแล้ว ก็อาจเข้าช้อนซื้อเหรียญคริปโตหลังการประกาศในราคาที่ถูกลง ทยอยสะสมไปก็ย่อมได้
ที่มา : https://th.tradingview.com/
ข่าวเด่น