การค้า-อุตสาหกรรม
อากาศแปรปรวน น้ำมันเตรียมขยับ กดดันต้นทุนการเลี้ยงสัตว์พุ่ง เกษตรกรขอความเข้าใจ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน


สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด และชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดเชียงใหม่ลำพูน ประกาศปรับราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ขึ้นอีกฟองละ 10 สตางค์ จากราคา 3.40 บาทต่อฟอง เป็น 3.50 บาทต่อฟอง ด้วยปัญหาสะสมจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ เป็นประเด็นหลักที่กดดันให้เกษตรกรต้องตัดสินใจปรับราคาขึ้นในครั้งนี้

นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สุเทพ สุวรรณรัตน์ กล่าวถึงสาเหตุที่เกษตรกรจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่ขึ้น เนื่องจากปัญหาต้นทุนการเลี้ยงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นมาตลอด แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ยิ่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน สภาพอากาศของไทยเกิดแปรปรวนอย่างหนัก อากาศร้อนจัด สลับพายุฝน ผลผลิตไข่ไก่และแม่ไก่เสียหายมาก แม่ไก่ไม่ออกไข่ มีบางส่วนเจ็บป่วยล้มตายไป เพราะปรับตัวไม่ทันกับสภาพอากาศ จนทำให้ปริมาณผลผลิตไข่ลดลงประมาณ 10% สวนทางกับการบริโภคที่คึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผ่านมา การปรับเพิ่มราคาเป็นเพียงการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น
 
 
เรื่องราคาอาหารที่ปรับขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก จากปัจจัยภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น หลังจากการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับภาวะขาดแคลนสินค้าจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักงัน ที่ผลักดันให้ต้นทุนราคาสินค้าและอาหารปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังมีสถานการณ์การสู่รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน กดดันให้ราคาสินค้าทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจและผู้นำด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของโลก ที่ขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยืนยันการแพร่ระบาดของโรคใน 27 รัฐ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซ้ำความต้องการบริโภคไข่ก็เพิ่มสูงขึ้นในช่วงอีสเตอร์ รวมถึงสงครามยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ สร้างแรงกระเพื่อมอันหนักหน่วงต่อห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาไข่ไก่พุ่งสูงขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

กลับมาที่ภาคปศุสัตว์ไทยที่ยังมีปัญหาใหญ่ในประเทศ จากวิกฤติวัตถุดิบขาดแคลน โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคการผลิตอาหารสัตว์ ที่ยังไม่มีทางออกว่าภาครัฐจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 5 ล้านตันต่อปี ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่มากถึง 8 ล้านตัน โดยมีมาตรการรัฐที่ยังคงเป็นอุปสรรค ทั้งมาตรการข้าวโพด 3:1 และภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% รวมถึงปัญหาของโลกจากสถานการณ์สู้รบในยูเครน ที่ผลักดันให้ราคาธัญพืชทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ พบว่าต้นทุนการผลิตส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30 – 40% แล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก ตราบใดที่การสู้รบระหว่างสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายสำคัญของโลก ยังไม่อาจบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ 

ปัญหานี้ไม่ได้กระทบเพียงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เท่านั้น หากแต่ยังลุกลามไปถึงปัญหาด้านพลังงาน เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย รัสเซียมีการส่งออกน้ำมันดิบราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยังสหภาพยุโรป ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็น 40% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในสหภาพยุโรป การประกาศจำกัดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ย่อมทำให้ราคาพลังงานที่สูงอยู่แล้วมีโอกาสพุ่งขึ้นไปอีก 

เท่ากับต้นทุนด้านพลังงานที่เป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญในภาคการขนส่งสินค้าเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ต้องปรับสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ล่าสุดภาคขนส่งของไทยส่งสัญญาณว่า จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าขนส่งทั่วประเทศขั้นต่ำ 15% หรืออาจมากกว่า 20% เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดและราคาน้ำมันดีเซล หลังจากที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคา 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

ปัญหาเบื้องหน้าที่กำลังรอเกษตรกรอยู่นี้ เปรียบเหมือนมรสุมลูกใหญ่ที่ท้าทายภาคผู้เลี้ยงอีกระรอก ยังไม่นับปัญหาภัยแล้งที่มาเยือนเช่นทุกปี ที่เกษตรกรจะต้องเตรียมรับมือด้วยการจัดหาน้ำใช้สำหรับสัตว์ในฟาร์ม อย่างเช่น การเลี้ยงไก่ไข่ที่ปกติไก่หนึ่งตัวจะกินน้ำเป็น 3 เท่าของการกินอาหาร ตามมาตรฐานไก่กินอาหารที่ 120 กรัมต่อวัน เท่ากับจะต้องกินน้ำ 360 ซีซีต่อวัน แต่ในช่วงอากาศร้อนไก่จะกินน้ำเพิ่มเป็นกว่า 400 ซีซีต่อวัน ยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่จำนวน 100,000 ตัว จำเป็นต้องใช้น้ำประมาณ 40,000 ลิตรต่อวัน กลายเป็นภาระการจัดซื้อน้ำที่เกษตรกรไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งต้นทุนด้านอื่นๆด้วย

เกษตรกรขอให้ผู้บริโภคเข้าใจในภาระและปัญหาสะสมที่พวกเขาต้องเผชิญ การเพิ่มขึ้นของราคาไข่ไก่แผงละ 3 บาท (ต่อ 30 ฟอง) ที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของผู้บริโภคนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยต่อชีวิตผู้เลี้ยงให้สามารถฝ่าฟันปัญหาต่างๆไปได้ เพื่อให้คนไทยมีโปรตีนคุณภาพดีราคาถูกไว้บริโภคต่อไป ที่สำคัญการปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ให้เกษตรกรได้มีโอกาสขายสินค้าในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คือแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของเรื่องนี้./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 เม.ย. 2565 เวลา : 18:15:38
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 2:43 am