การค้า-อุตสาหกรรม
คลังเผยผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2565


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 มีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 – 2564) และทิศทางของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 – 2570) รวมทั้งรับทราบการรายงานสรุปมาตรการทางการเงินและตลาดทุนที่มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมาตรการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป (มาตรการฯ) โดยกระทรวงการคลังจะนำมาตรการฯ และหลักการในการกำหนดทิศทางของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบไปพร้อมกับรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ในระยะสิ้นแผน


ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2565 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564)

ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ในระยะสิ้นสิ้นแผน เพื่อกระทรวงการคลังจะได้นำเสนอรายงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.1 แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 – 2564) กำหนดวิสัยทัศน์ คือ พัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึง แข่งได้ เชื่อมโยง และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ เข้าถึงแข่งขันได้ เชื่อมโยง และยั่งยืน ประกอบไปด้วย 7 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) การเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)/วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และนวัตกรรม (2) การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (3) การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย (4) การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค (5) การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ (6) การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล และ (7) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การดำเนินงานแบ่งเป็น 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 64 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 45 แผนงาน (70% ของทั้งหมด) แผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 19 แผนงาน ทั้งนี้ โดยสรุปการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตามเป้าหมายส่วนใหญ่ โดยมีการดำเนินการได้ต่ำกว่าเป้าหมายบางส่วนเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค Covid-19

1.2 ผลของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 ที่มีต่อภาคการเงิน ตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาตลาดทุน มีประโยชน์และความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเงินของประเทศทั้งระบบอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมในหลายด้าน อาทิ

1.2.1 ด้านการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนและการสนับสนุนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ โดยมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของขนาดตราสารทุนและตราสารหนี้ พัฒนาการของบริษัทจดทะเบียนทั้งในส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเพิ่มศักยภาพของบริษัทจดทะเบียน และการส่งเสริม SMEs ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนการขยายตัวทั้งด้านจำนวนและความหลากหลายของฐานผู้ลงทุน

1.2.2 ด้านการส่งเสริมการเป็นแหล่งระดมทุนและการเข้าถึงทางการเงิน โดยมีการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้แก่ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการระดมทุนจากประชาชนหรือองค์กรจำนวนมากโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Crowdfunding) การพัฒนา LiVE platform เพื่อช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup การเป็นแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure fund) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และการส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินผ่านวอลเล็ต สบม. ซึ่งเป็นช่องทางส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุน (Financial Inclusion) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยทุกกลุ่มอายุทุกระดับการออม และทุกพื้นที่ เข้าถึงการลงทุนในตราสารหนี้บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ

1.2.3 ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค นำมาสู่ (1) การที่บริษัทหลักทรัพย์มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการประกอบธุรกิจ และธุรกิจจัดการลงทุนมีการเติบโตทั้งมูลค่าทรัพย์สินและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (2) การแก้ไขอุปสรรคและข้อติดขัดด้านกฎหมาย โดยในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอการปรับปรุงกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหลายฉบับ แม้ว่ากฎหมายบางฉบับจะยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ทันในช่วงเวลาของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 แต่ก็มีความคืบหน้าตามกระบวนการนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่อง โดยกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างพิจารณา อาทิ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด และการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดทุนดิจิทัล และ (4) การพัฒนาดัชนีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเชื่อมโยงกับต่างประเทศ

1.2.4 ด้านการสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดย (1) การส่งเสริมการออมระยะยาวผ่านมาตรการภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) และกองทุนบำเหน็จบำนาญภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยกระทรวงการคลังได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..... เพื่อให้มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการ นโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..... เพื่อให้มีคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่จัดทำนโยบายของระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมให้สอดคล้องกัน ตลอดจนจัดทำระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญ (2) การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านการเงินแก่ประชาชน อาทิ การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินระยะ 5 ปี การจัด Platform ความรู้ทางการเงินสำหรับคนไทย เช่น เว็บไซต์ รู้เรื่องเงิน.com และโครงการส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินสำหรับประชาชนไทย “หมู่บ้านหมดหนี้ มีออม (Happy Money, Happy Village)” เป็นต้น และ (3) การสนับสนุนการมุ่งสู่ตลาดทุนยั่งยืน โดยสามารถสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond)

2. ทิศทางของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 – 2570)

ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบทิศทางของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 - 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ตลาดทุน (กำลัง 4) เพื่อการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง” โดยวิสัยทัศน์ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) สานต่อตลาดทุนให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค (2) ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน (3) สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ (4) สร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี (Financial well-being) ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 มีพันธกิจครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ (1) ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (2) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (3) ตลาดทุนดิจิทัล (4) ตลาดทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงิน และ (5) ตลาดทุนที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์/เข้าถึงได้ รวมทั้งมียุทธศาสตร์ที่มีความครอบคลุมแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการกำกับดูแลและพัฒนาภาคตลาดทุนของประเทศในอนาคต อันจะนำไปสู่การมีแผนพัฒนาตลาดทุนในระยะต่อไปที่จะเข้ามามีบทบาทพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพใน 5 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ (Competitiveness) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน (Digitalization) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนไทยส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว (Sustainable Capital Market) และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ โดยมีความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Financial well-being) ทั้งนี้ ได้มีการตอบ 9 คำถามต่อการก้าวขึ้นสู่แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ดังปรากฏตามเอกสารแนบ

3.สรุปมาตรการทางการเงินและตลาดทุนที่มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานมาตรการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ องค์กร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและตลาดทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาคบริการ ภาคการอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงความผันผวนทางการเงินและตลาดทุน และการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐในระยะต่อไป ภายใต้หลักการ “พลิกฟื้นประเทศไทย” ทั้งนี้ มาตรการฯ จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสรุปผลของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 โดยการรายงานสรุปมาตรการฯ แบ่งออกเป็นมาตรการที่ดำเนินการแล้วในปี 2563 – 2564 และมาตรการที่จะดำเนินการในปี 2565 และในระยะต่อไป สรุปได้ ดังนี้

3.1 มาตรการที่ดำเนินการแล้วในปี 2563 – 2564 ประกอบด้วย

(1) มาตรการทางภาษี อาทิ มาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

(2) มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดทุนตลาดเงิน อาทิ มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับสถาบันที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (MFLF) ที่ประสบปัญหาจากการเร่งไถ่ถอนของนักลงทุน มาตรการ Circuit Breaker Ceiling & Floor และ Short Selling เป็นต้น

(3) มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ โครงการจับคู่กู้เงิน เป็นต้น

(4) มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ร่วมตลาด อาทิ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond fund) เพื่อช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง Private REITs เพื่อช่วยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อระดมทุนได้เร็วขึ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REITs with Buy Back Condition) เพื่อช่วยผู้ประกอบการหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรค COVID-19 เป็นต้น

(5) มาตรการด้านการประกันภัย ประกอบด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ และมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัย

3.2 มาตรการที่จะดำเนินการในปี 2565 และในระยะต่อไป

ภาครัฐและหน่วยงานภาคีเครือข่ายมีแผนการที่จะดำเนินมาตรการใน 5 ด้านข้างต้นในปี 2565 และในระยะต่อไป เพื่อรองรับนโยบาย “พลิกฟื้นประเทศไทย” ของภาครัฐ โดยเป็นการสานต่อมาตรการที่ดำเนินการอยู่แล้วเดิมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งการออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงิน ตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการให้ REIT Buy-backมาตรการ BSF มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างนายจ้างที่ประสบภาวะวิกฤตด้วยการขยายเวลาการนำส่งเงินเข้ากองทุนเลี้ยงชีพ ตลอดจนการติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
 
 

LastUpdate 26/04/2565 12:12:16 โดย : Admin
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 2:50 am