สถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลางปี 2563 เรื่อยมา จนกระทั่งวิกฤติปะทุหนักพร้อมเสียงปืนนัดแรกที่รัสเซียยิงตกในแผ่นดินยูเครน การสู่รบในครั้งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาธัญพืชทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสองประเทศเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก
แม้ว่าไทยจะห่างไกลจากพื้นที่สงคราม แต่หางเลขก็ตกมาถึงเช่นกัน โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาปรับตัวอย่างไม่อาจคาดเดา ว่าจะสิ้นสุดที่จุดไหน วิเคราะห์ข้อมูลราคาวัตถุดิบ (แสดงในตาราง) เมื่อเทียบราคาปี 2563 กับปัจจุบัน จะเห็นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาสูงขึ้นถึง 41.48 % ส่วนธัญพืชนำเข้า อย่างข้าวสาลี ราคาพุ่งไปถึง 76.15% ส่วนกากถั่วเหลืองราคาเพิ่มขึ้น 67.66% ขณะที่ปลาป่นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญอีกชนิด ราคาก็ขึ้นไปแล้วถึง 30.20% ทั้งหมดนี้คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว 25-30%
สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับขึ้นไปขนาดนี้ นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกแล้ว ปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญคือ ปัญหาขาดแคลนผลผลิต จากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยราว 8 ล้านตันต่อปี แต่มีผลผลิตในประเทศเพียง 5 ล้านตันต่อปี ขาดแคลนถึง 3 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 1.3-1.5 ตันนำเข้าจากประเทศอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA (ภาษีเป็นศูนย์) ส่วนที่ยังขาดไปอีกครึ่งหนึ่ง ผู้ผลิตจำเป็นต้องหาวัตถุดิบทดแทน แต่กลับมีมาตรการของรัฐที่เป็นอุปสรรค ทั้งมาตรการ 3:1 ที่กำหนดให้ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนได้ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561
ขณะเดียวกัน รัฐมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพด ด้วยโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่มีมาตรการควบคุมราคาขั้นต่ำ (Floor Price) กิโลกรัมละ 8.50 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) แต่รัฐกลับไม่ได้กำหนดเพดานราคา (Ceiling Price) เป็นที่มาของราคาข้าวโพดที่สูงเกือบ 13 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลก นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) มียังมีภาษีที่สูงมาก โดยการนำเข้าภายใต้โควตาเก็บภาษีนำเข้า 20% กรณีนำเข้านอกโควตาเก็บภาษีสูงถึง 70% ซึ่งแพงเกินกว่าจะนำเข้าได้ รวมทั้งรัฐยังมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่ผู้ผลิตต้องแบกรับมาตลอด
เรื่องนี้ภาคผู้ผลิตได้ทำหนังสือแสดงถึงความเดือดร้อนถึงกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ วันที่ 19 มีนาคม 2564 จนเกิดความประชุมหลายครั้ง จนถึงการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และโรงงานอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก มาตรการ 3 : 1 เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิต และบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตของต้นน้ำ ที่เชื่อมโยงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กลางน้ำก็ตาม แต่การประชุมวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กลับมีมติให้ยกเลิกมาตรการชั่วคราวดังกล่าว จนถึงวันนี้ก็ไร้บทสรุป และยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ต่ออย่างเป็นรูปธรรม พูดง่ายๆ “ยังไม่มีข้าวโพดแม้แต่เมล็ดเดียวที่นำเข้ามาได้” เป็น 13 เดือนที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ภาคผู้ผลิตและเกษตรกรกำลังรอคอยคำตอบจากภาครัฐ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและเกษตรกร ก่อนที่ราคาข้าวโพดจะขยับขึ้นไปสูงกว่านี้ เพราะต้องไม่ลืมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้ในสูตรอาหารสัตว์มากกว่า 50% จึงถือเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นตัวชี้วัดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลง หากราคาข้าวโพดฯ ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตในส่วนนี้ต่ำลง ทั้งหมดนี้ต้องรอให้รัฐลงมือปลดดล็อกปัญหา คลายมาตรการที่รัดตรึง รวมทั้งปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี เพื่อให้เกษตรกรหายใจหายคอสะดวกขึ้น เพราะคนสุดท้ายที่จะได้ประโยชน์นจากเรื่องนี้ ก็คือผู้บริโภคคนไทย.
เรื่องโดย บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการอิสระ
ข่าวเด่น