การค้า-อุตสาหกรรม
สศท.8 โชว์


 

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดชุมพรนับเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้า อันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ เดือนตุลาคม 2564 มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 81,929 ไร่ ให้ผลผลิตรวมทั้งจังหวัด 8,322 ตัน/ปี เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกแซมหรือผสมผสานในสวนผลไม้ เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กับจังหวัดปีละ 573.71 ล้านบาท กาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่ได้รับความนิยมของจังหวัดชุมพรมีหลายกลุ่ม เช่น กาแฟเขาทะลุ เอสที กาแฟชุมพร และกาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร

 
 
 
สำหรับกาแฟถ้ำสิงห์ชุมพรของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งมีจุดเด่นเฉพาะ พื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาหินปูนระดับความสูง 85 – 120 เมตร จากระดับน้ำทะเล สามารถนำกาแฟผลสดมาบ่มแล้วคัดด้วยกรรมวิธีเฉพาะที่มีมาตรฐานเป็นกาแฟสาร และแปรรูปเป็นกาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด มีรสชาดเข้ม กลมกล่อม มีกลิ่นหอม ซึ่งนอกจากจุดเด่นด้านรสชาติแล้ว กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพรยังได้รับการ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 27 กันยายน 2564 ในรูปของสินค้ากาแฟสาร กาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบด
 
 

 
 
จากการลงพื้นที่ของ สศท.8 เพื่อติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ชุมพร ตำบล ถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปกาแฟโรบัสต้า โดยเริ่มดำเนินตั้งแต่ปี 2551 มีสมาชิกทั้งหมด 651 ราย และมีสมาชิกที่มีการซื้อขายผ่านกลุ่ม 125 ราย มีพื้นที่ปลูกรวม 1,250 ไร่ ทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งสิ่งที่กลุ่มให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดกาแฟต้องสุก เป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง และต้องเป็นเมล็ดกาแฟในพื้นที่ปลูก GI หลังจากนั้นทางกลุ่มจะนำเมล็ดกาแฟสดมาแปรรูปเป็นสารกาแฟ กาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบด สำหรับการดำเนินงานปี 2564 ทางกลุ่มได้รับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 50 ตัน แปรรูปและจำหน่ายในรูปของสารกาแฟ จำนวน 10 ตัน ราคา 170 – 200 บาท/กิโลกรัม แปรรูปเป็นกาแฟคั่ว จำนวน 24 ตัน จำหน่ายในราคา 450 – 500 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่เหลืออีก 16 ตัน นำมาแปรรูปเป็นกาแฟคั่วบด จำหน่ายในราคา 450 – 500 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟโรบัสต้า 4in1 จำหน่ายในราคาถุงละ 110 บาท, กาแฟโรบัสต้า 3in1 จำหน่ายในราคาถุงละ 85 บาท, กาแฟเกล็ดแบบขวด 120 กรัม จำหน่ายในราคา ขวดละ 100 บาท แบบถุง 150 กรัม จำหน่ายในราคา 120 บาท และกาแฟดริป จำหน่ายในราคากล่องละ 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยปี 2564 ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ชุมพร มีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 21.18 ล้านบาท/ปี
 
 
 
สำหรับด้านการตลาด ทางกลุ่มมีการส่งผลิตภัณฑ์ให้ศูนย์โอทอปกาแฟถ้ำสิงห์เพื่อกระจาย จำหน่าย 5 ช่องทาง ได้แก่ ตัวแทนจำหน่าย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำหน่ายตรงให้กับผู้ซื้อ จำหน่ายโดยการเข้าร่วมนิทรรศการต่างๆ ภายในประเทศของหน่วยงานภาครัฐ และจำหน่ายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกลุ่ม ได้แก่ (http://www. coffeethamsing.com) ผ่าน Facebook Application Line Instagram ปัจจุบัน ทางกลุ่มอยู่ระหว่างการยื่นข้อรับการสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) จากส่วนบริหารกองทุนภาคเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นเงินลงทุนก่อสร้างอาคารแปรรูป พร้อมทั้งจัดซื้อเครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) ในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ากาแฟ ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถรับซื้อกาแฟจากเกษตรกร และเพิ่มกำลังผลิตได้อีกร้อยละ 80 อีกทั้งมีแผนการตลาดในปี 2565 จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟของกลุ่มที่ห้างสรรพสินค้าโดยมีเป้าหมายการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
 

 
ทั้งนี้ กาแฟยังเป็นพืชทางเลือกในการปลูกแซมหรือผสมผสานพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรเองต้องมีการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต แปรรูป และด้านตลาด รวมถึงภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิต และแปรรูป เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอำนาจการต่อรอง และยังสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรด้วย BCG Model ผู้สนใจหรือต้องการ

ศึกษาดูงานสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายนิคม ศิลปศร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ชุมพร ตำบล ถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โทร 0 93578 0281 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th

LastUpdate 02/05/2565 12:58:31 โดย : Admin
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 5:03 am