ปรากฎการณ์ราคาสุกรปรับตัวฉับพลันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่สุดแล้วก็ได้ “กลไกตลาดเสรี” เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ทำให้ราคาลดลง สู่จุดสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตสุกร กับการบริโภคของประชาชน เรื่องนี้เป็นหลักเศรษฐศาสตร์และหลักจิตวิทยา เมื่อราคาปรับตัวในระดับหนึ่ง ผู้บริโภคจะลดการบริโภคลงหันไปบริโภคโปรตีนชนิดอื่นแทน เมื่ออุปสงค์กับอุปทานกลับมาอยู่ในจุดเดียวกัน ราคาก็จะปรับตัวลดลงได้เอง โดยที่ไม่ต้องมีการควบคุมราคาหรือบิดเบือนตลาดให้เสียเวลา
ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ราคาสุกรปรับตัว เหตุเพราะปริมาณการผลิตที่ลดลง สืบเนื่องจากผลพวงของโรค ASF ในสุกร ที่พบเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หากพิจารณาตารางแสดงข้อมูลการผลิตสุกรของไทย จะเห็นว่าปัจจุบันจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหายไปจากระบบมากถึง 10,951 ราย หรือลดลง 9.06% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตสุกรของไทย มีจำนวนสุกรรวมลดลงไปถึง 17.91% เป็นปริมาณแม่สุกรที่หายไป 4.24% และจำนวนสุกรที่ลดลง 18.97% เป็นภาพสะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริงของภาวะการผลิตสุกรในขณะนี้
เมื่อปริมาณลดลง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน ทำให้ราคาจำเป็นต้องปรับขึ้น เรื่องนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลว่า จากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องสภาวะอากาศแปรปรวนมีผลต่อการผลิตสุกร ส่งผลให้จำนวนสุกรขุนลดลง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาปริมาณผลผลิตในระยะยาวนั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งให้ปศุสัตว์พื้นที่ทั่วประเทศออกให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านการยกระดับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) สำหรับฟาร์มการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) มาตรฐานที่ใช้ในฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลาง และผลักดันมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ในฟาร์มขนาดใหญ่อย่างเข้มข้น พร้อมผลักดันแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็ก ด้วยหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้เลี้ยงทำให้สามารถผลิตสุกรได้อย่างยั่งยืน
ทางด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยันว่าผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ร่วมสนองนโยบายรัฐบาล ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังเริ่มนโยบายเปิดประเทศไปแล้วเมื่อ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยผู้เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง จะรักษาระดับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ฟาร์มในภูมิภาคพื้นที่ห่างไกลออกไป อาทิ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ราคาในพื้นที่สูงกว่าพื้นที่อื่นเล็กน้อย เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งที่แพงกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือยังคงพึ่งพาชิ้นส่วนสุกร และสุกรขุนจากภูมิภาคอื่นอยู่ แม้ว่าผู้เลี้ยงสุกรจะยังต้องรับภาระต้นทุนการเข้มงวดด้านสุขภาพสัตว์ และต้นทุนวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับขึ้นอีก 2 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร และค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เรียกเก็บเพิ่ม 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่า FT เรียกเก็บ 24.77 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานจึงต้องจ่ายค่าไฟรวม 4 บาทต่อหน่วย
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ ให้ข้อมูลว่าผลกระทบโรค ASF ทำให้จำนวนเกษตรกรทั่วประเทศลดลงไปเกินกว่าครึ่ง ส่งผลให้ผลผลิตสุกรลดลงกว่า 50% ไม่เพียงพอกับการบริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคเหนือมากกว่า 80% จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยง คงเหลือเพียง 20% ที่ยังสามารถเลี้ยงสุกรได้ต่อไป เมื่อปริมาณสุกรไม่เพียงพอจึงต้องพึ่งพาภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมสุกรไทย ยังคงมีผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกรรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ที่พร้อมใจรักษาอาชีพเลี้ยงสุกรเอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด สำหรับการปรับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่มีการขึ้นราคาตามอำเภอใจ แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่า 30-40% และเพื่อให้เกษตรกรพออยู่ได้บ้าง ย้ำว่าปริมาณสุกรในขณะนี้มีไม่มากและอยู่ในมือเกษตรกรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังคงยืนหยัด คัดค้านแนวคิดการนำเข้าเนื้อสุกร และขอให้ภาครัฐเร่งปราบปรามการลีกลอบนำเข้าเนื้อสุกร เพราะถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร เพิ่มความเสี่ยงผู้บริโภครับสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นสารอันตรายและผิดกฎหมายไทย และยังเป็นระเบิดเวลาทำลายเศรษฐกิจชาติ
สุกรถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมโมดิตี้ (commodities) ที่ปรับราคาขึ้นและลงไปตามดีมานด์และซัพพลาย และราคาจะปรับได้เองตามกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นทางออกเกษตรกรทุกคน.
เขียนโดย ณัฐภัทร ร่มธรรม นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร
ข่าวเด่น