กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน และคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานสวนสับปะรดภูเก็ต ถ่ายทอดกระบวน การผลิต วิธีการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มั่นใจ! ช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของภูฏาน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – ภูฏาน ครั้งที่ 4 ณ จังวัดภูเก็ต เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน (นายล็อกนัท ชาร์มา) และคณะ ลงพื้นที่สวนสับปะรดภูเก็ต เพื่อศึกษาดูงานถึงกระบวนการผลิตสับปะรด และวิธีการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เกษตรกร และผู้เพาะปลูกสับปะรดของจังหวัดภูเก็ต ร่วมบรรยายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคณะดังกล่าว ทั้งนี้ สับปะรดภูเก็ตเป็น 1 ใน 2 สินค้า GI ของภูเก็ต และเป็นสินค้าลำดับที่ 156 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ของไทย
นางอรมน กล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของภูฏาน เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาภาคเกษตรกรรมจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตร และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูฏานอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2562 ภูฏานได้แสดงความสนใจจะเรียนรู้แนวทางการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของไทย ซึ่งความร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภูฏาน ภายใต้การประชุม JTC นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว เกษตร และหัตถกรรม
ทั้งนี้ ในปี 2564 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 119 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีมูลค่าการค้ารวม 66.53 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 66.49 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผ้าผืน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 40,000 เหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ยางนอกชนิดที่ใช้กับอากาศยาน ใบชาเขียว ใบเลื่อยสายพาน โลหะสำหรับอุตสาหกรรมหนัก รูปหล่อขนาดเล็ก และแยมผลไม้
ข่าวเด่น