เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาปุ๋ยยูเรีย ปี 2565 คาดยืนระดับสูงในกรอบ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากอุปทานโลกตึงตัว...กระทบพืชเศรษฐกิจหลักแตกต่างกัน


 
ราคาปุ๋ยเคมีปรับพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ ตามราคาวัตถุดิบและอุปทานปุ๋ยในตลาดโลกที่ตึงตัวจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ผนวกกับภาครัฐได้อนุญาตให้ปรับเพิ่มราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าของไทยในปี 2565 จะยืนอยู่ในระดับสูงที่กรอบ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เร่งขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2564 

เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่สูง ตามมาด้วยยางพาราและอ้อย ขณะที่ ข้าว แม้จะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่ที่น้อยกว่า แต่ด้วยฤดูเพาะปลูกหลักของข้าวนาปีที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้หากเกษตรกรที่ปลูกข้าวจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวได้ ก็อาจจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวทั้งปีนี้ให้ลดลงกว่าที่คาดไว้

ปุ๋ยเคมี นับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการปลูกพืชเกษตรไทย  ซึ่งมีความต้องการใช้ปุ๋ยตามปริมาณการเพาะปลูกพืชเป็นหลัก โดยไทยมีสถานะเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมดและยังเป็นทิศทางการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยการใช้ปุ๋ยเคมีในไทยเป็นการนำเข้ามาเกือบทั้งหมด ซึ่งราว 2 ใน 3 เป็นการนำเข้าแม่ปุ๋ย และอีก 1 ใน 3 เป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่ผสมแล้ว รวมแล้วไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปีละกว่า 5 ล้านตัน มูลค่ามากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นว่า ไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อนำมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรมีจำกัด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดินให้เสื่อมลง จึงมีการใช้ปุ๋ยในปริมาณต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนจากในปี 2563 อัตราการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจหลักรวมเพิ่มขึ้นเป็นราว 380 กิโลกรัมต่อไร่ จากในปี 2561 ที่ราว 348 กิโลกรัมต่อไร่  ทั้งนี้ ปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มี 3 แร่ธาตุหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสเฟต ซึ่งให้แร่ธาตุฟอสฟอรัส (P) และโพแทส ซึ่งให้แร่ธาตุโพแทสเซียม (K) โดยในแต่ละแร่ธาตุก็มีผู้เล่นในระดับโลก เช่น จีนและรัสเซียเป็นผู้นำการส่งออกไนโตรเจน จีนและโมร็อกโกเป็นผู้นำด้านการส่งออกฟอสเฟต แคนาดากับเบลารุสเป็นผู้นำด้านการส่งออกโพแทส และรัสเซียกับจีนเป็นผู้นำด้านการส่งออกปุ๋ยเคมีผสม  
 

 
 
ทั้งนี้ ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนมากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 48.6 ของปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมดของไทย มาจากซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก และไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีผสมในสัดส่วนรองลงมาที่ร้อยละ 34.0 มาจากจีนและรัสเซียเป็นหลัก ตามมาด้วยการนำเข้าปุ๋ยที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมที่ร้อยละ 17.3 มาจากแคนาดาและเบลารุส ส่วนการนำเข้าปุ๋ยที่มีแร่ธาตุฟอสฟอรัสที่ทำมาจากเหมืองหินปูน ปัจจุบันไทยเริ่มมีการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศแล้ว จึงทำให้สัดส่วนการนำเข้าน้อยกว่าปุ๋ยแร่ธาตุอื่นๆ 
 

 
• ราคาปุ๋ยเคมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีทีท่ายืดเยื้อ ดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับสูง รวมถึงอุปทานในตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับสูงขึ้นตามตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกได้เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ราวเดือนต.ค.2564 เนื่องจากผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่อย่างจีนมีการจำกัดการส่งออกเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร จนกระทั่งถึงในเดือนก.พ.2565 ได้เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมีอย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก  ดันให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งตาม อีกทั้งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีธาตุหลักรายใหญ่ของโลกได้มีการจำกัดการส่งออก รวมถึงผู้นำเข้ากังวลต่อปัญหา Supply Disruption จึงเร่งนำเข้า ทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกตึงตัว ยิ่งดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์ และแน่นอนว่า ไทยในฐานะประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมด คงต้องได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งด้านราคาที่สูงขึ้นและความลำบากในการจัดหาอุปทานปุ๋ยในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาปุ๋ยยูเรีย นำเข้าของไทยน่าจะยังมีแนวโน้มยืนระดับสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 หลังจากที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 798 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยทั้งปี 2565 ราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 950-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2564 เนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะขยายระยะเวลาการจำกัดการส่งออกปุ๋ยออกไปจากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.นี้ ทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกยังคงมีจำกัด ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรของหลายประเทศที่มีต่อรัสเซีย จะทำให้ประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยยังคงมีความยากลำบากในการจัดหาอุปทานปุ๋ย และทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกตึงตัว ซึ่งแม้ว่าภาครัฐ/ผู้ประกอบการไทยจะสามารถบริหารจัดการนำเข้าปุ๋ยเคมีได้จากแหล่งอื่น เช่น ซาอุดีอาระเบีย แต่คงต้องเผชิญราคานำเข้าที่สูงและอาจยังต้องไปแย่งชิงกับประเทศอื่นซึ่งมีความต้องการปุ๋ยเคมีเช่นกัน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ผนวกกับในเดือนเม.ย.2565 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการอนุญาตปรับเพิ่มราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ล้วนทำให้ภาพของราคาปุ๋ยเคมีจะยังทรงตัวในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี 2565 สำหรับในกรณีเลวร้าย หากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีการยกระดับความรุนแรงหรือขยายขอบเขตมากขึ้นไปจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็อาจทำให้ราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าของไทยในปีนี้มีตัวเลขสูงกว่ากรอบบนที่ประเมินไว้ หรือมีโอกาสที่ราคาปุ๋ยเคมีจะทรงตัวสูงลากยาวต่อเนื่องออกไปอีกในปีถัดไป
 

 
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2565 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดหากเทียบกับการปลูกพืชหลักอื่นๆ เนื่องจากปาล์มน้ำมันมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่สูงถึง 120 กิโลกรัมต่อไร่ ตามมาด้วยยางพาราและอ้อยที่ 76 และ 63 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ขณะที่ หากพิจารณาในระดับประเทศจากมิติของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด พบว่า แม้ข้าวจะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่ที่น้อยกว่า แต่เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ดังนั้น การพึ่งพาปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีโดยรวมจึงมีมากถึงกว่า 2 ล้านตันต่อปี 
 

 
นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากมิติของฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตทั้งปีนั้น พบว่า เกษตรกรที่เริ่มปลูกข้าวนาปีในเดือนพ.ค.นี้เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายนี้ จะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าวในระยะแตกกอและเริ่มตั้งท้องในสัดส่วนที่สูง  โดยหากเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวรับกับราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นได้ ก็อาจส่งผลกระทบให้ผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีและผลผลิตข้าวทั้งปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ สำหรับปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ทุเรียน) แม้จะมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่ที่สูงกว่า แต่เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมากแล้ว ดังนั้น ผลกระทบของราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นต่อปริมาณผลผลิตทั้งปีนี้ของปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ทุเรียน มังคุด) จึงน่าจะอยู่ในวงที่จำกัด        
 

 
ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมราคาสินค้าเกษตรในปี 2565 จะอยู่ในเกณฑ์ดี จากแรงหนุนของ Pent Up Demand เทรนด์ Food Security และผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อสินค้าเกษตร แต่ในฝั่งของต้นทุนการผลิตกลับมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ทั้งต้นทุนปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง ค่าระวางเรือ/ค่าขนส่ง กระทบต่อความต้องการใช้ปุ๋ยเพื่อการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่อาจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ผลกระทบจากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำที่สูงขึ้น คงจะทยอยส่งผ่านไปยังธุรกิจกลางน้ำ/ปลายน้ำ ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบให้ต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในระยะสั้น ภาครัฐหรือผู้ประกอบการนำเข้าปุ๋ยเคมีคงต้องมีการเร่งกระจายจัดหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีที่หลากหลายมากขึ้น แม้ราคานำเข้าจะสูง แต่เพื่อให้เกษตรกรสามารถที่จะปรับตัวได้ การทยอยปรับขึ้นราคาเป็นรอบๆ อาจเป็นแนวทางหนึ่ง ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว ทุกภาคส่วนคงต้องมุ่งไปที่การออกแบบโครงสร้างการใช้ปุ๋ยเคมีให้ตรงกับลักษณะดินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มีการวิเคราะห์ดินอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ค. 2565 เวลา : 20:17:43
14-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 14, 2025, 3:27 pm