สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนน้ำ (Water fund) จากการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ (หมวดที่ 4) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ณ ห้องแมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นผลจากที่ สทนช. ได้ร่วมมือทางวิชาการกับ GIZ ในการบูรณาการดำเนินงานด้านบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้บริบท การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม และสร้างโอกาสให้กับประเทศเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายภายใต้พันธกรณีของข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าวครอบคลุมประเด็นเรื่องการเงิน ที่มุ่งเป้าเพื่อพัฒนากลไกทางการเงินในการจัดการความท้าทายด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ
“ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดบทบัญญัติสำหรับการจัดสรรและการใช้น้ำ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวดที่ 4 โดยให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บค่าใช้น้ำ เป็นปัจจัยส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดทำกระบวนการเพื่อรองรับการจัดการค่าใช้น้ำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สทนช. จึงใช้โอกาสที่มีความร่วมมือกับ GIZ ให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ในด้านการประเมินกระบวนการจัดเก็บและจัดสรรค่าน้ำ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกทางการเงิน สำหรับบริหารจัดการค่าน้ำของประเทศ เพื่อยกระดับการจัดการน้ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารทรัพยากรน้ำให้เกิดความพร้อม สามารถตั้งรับปรับตัวเท่าทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า จากที่คณะทำงานร่วมด้านวิชาการในโครงการการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ระหว่าง TGCP-Water (GIZ) และ สทนช.ทำการศึกษา เรื่อง Climate Finance ในภาคส่วนน้ำ พบว่า ในการกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ (หมวดที่ 4) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ควรมีการศึกษาเครื่องมือ หรือกลไกในการบริหารจัดการค่าธรรมเนียม โดยกองทุนน้ำอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และอาจรวมถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์ และรักษานิเวศบริการ ทั้งอาจเป็นกลไกในการดำเนินการด้านการเงินระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน สร้างความมั่นคงด้านน้ำได้ คณะทำงานฯเห็นถึงประโยชน์ในการศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งกองทุนน้ำ
“เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินการในระดับสากล ด้านการจัดเก็บและจัดสรรเงินทุนจากค่าใช้น้ำที่เหมาะสม สำหรับการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกทางการเงินสำหรับบริหารจัดการค่าน้ำของประเทศไทยที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำในทุกระดับในอนาคต คือเป้าหมายสำคัญของการจัดประชุมในครั้งนี้” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ข่าวเด่น