คุณภาพชีวิต
ลุยพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เดินหน้า เฝ้าระวัง เตือนภัย ร่วมฟ้องคดี


สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ภาคใต้ จัดประชุมพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สร้างความร่วมมือกับภาครัฐในการรณรงค์และทำงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมตั้งเป้าหมายขยายงานเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิ มีระบบเตือนภัยที่รวดเร็ว ร่วมฟ้องคดีกับผู้บริโภค และขยายพื้นที่การคุ้มครองสิทธิด้วยการสร้างกลไกองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคไปสู่ 14 จังหวัดภาคใต้

 
 
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงผลการดำเนินงานสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 271 องค์กร ขณะที่ในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน ในอนาคตหวังว่าอย่างน้อย 14 จังหวัดภาคใต้ จะเกิดกลไกองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นในจังหวัดของตนเอง เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคในจังหวัดของตนเองและร่วมกันคุ้มครองสิทธิของสังคม

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังกล่าวถึงการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคว่า ถึงเวลาที่ควรผลักดันเรื่องความปลอดภัยให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเร่งส่งเสริมการรู้เท่าทันให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เนื่องด้วยปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก เช่น การได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ปัจจุบันสร้างความรำคาญและหลอกลวงผู้บริโภคทั่วประเทศไทยในทุกๆ วัน หรือแม้แต่กรณีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ (ฟินเทค : Fintech) ซึ่งมีการดัดแปลงการเล่นหุ้นมาเป็นรูปแบบคล้ายการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งอันตรายกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

แม้จะมีกระแสความหวั่นเกรงว่าการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจะกระทบกับระบบทุน แต่สารี เชื่อว่า การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการ ในทางกลับกันการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคจะยิ่งทำให้ธุรกิจของประเทศสามารถพัฒนาศักยภาพจนถึงจุดที่ทำให้ธุรกิจไทยเข้มแข็ง สามารถไปแข่งขันกับชาติอื่นได้ พร้อมทั้งยกคำพูดของจอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการคุ้มครองผู้บริโภคของโลก ที่เคยพูดถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้วว่า เราควรมีสิทธิที่จะเลือก

“ถามว่าวันนี้ประเทศไทยมีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่ พูดได้เลยว่าสำหรับบ้านเรามีแค่ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องเริ่มถูกจำกัดสิทธิที่จะเลือก เห็นได้จากกรณีการซื้อของ เดิมเรามีร้านโชห่วย เราเคยมีร้านเล็กๆ เต็มไปหมด ปัจจุบันเดินไปที่ไหนก็มีแต่ร้านอยู่ร้านเดียว เป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้บริโภคไทยกำลังถูกจำกัดทางเลือกในระบบโทรคมนาคม มีการผูกขาด การควบรวม ยิ่งทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคไทยลดลงไปอีก” สารี กล่าว

สำหรับเส้นทางการทำงานผู้บริโภค และการเกิดขึ้นองสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค ชี้ว่าการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวแทนของผู้บริโภค ทุกคน ทุกด้าน และทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นกับผู้บริโภคทุกคน

“การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญ ในประเทศแถบอาเซียนยังไม่มีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญ คือ การทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เสนอไปยังหน่วยงานทุกระดับ ซึ่งไม่ได้ทำแต่ข้อเสนอเชิงนโยบายเท่านั้น แต่ยังช่วยกันส่งเสียง เฝ้าระวัง เตือนภัยให้ผู้บริโภค ที่สำคัญยังเดินหน้าให้การสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยฟ้องคดีให้แก่ผู้บริโภคด้วย” สุภาพรกล่าว

ทั้งนี้ รองเลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค เน้นถึงความท้าทายในการคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัลด้วยว่า การทำงานผู้บริโภคต้องนึกถึงคนที่มีความหลากหลาย คนที่มีปัจจัย เข้าถึงระบบที่แตกต่างกันด้วย ในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะเห็นความยิ่งใหญ่กว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลก็ได้ ตอนนี้เรามีคำว่าโลกเสมือน (Metaverse) สกุลเงินดิจิทัล สังคมไร้เงินสด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ผู้บริโภคต้อง ‘เท่าทัน’ และเชื่อมั่นว่า คนตัวเล็กๆ แบบเราและพลังของผู้บริโภคจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

ขณะที่ ชโลม เกตุจินดา หัวหน้ากลไกเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัลว่า ต้องทำให้ทุกอย่างเปิดเผยในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์กรผู้บริโภคมืออาชีพ มีศักยภาพไปต่อรองกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันนี้ ปัญหาผู้บริโภคมีหลากหลายและไปไกล จึงอยากเห็นการมีแอปพลิเคชันที่รับเรื่องร้องเรียน หรือ การตรวจสอบคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจริง เช่น การบังคับใส่แอปฯ รับเรื่องร้องเรียนที่มากับโทรศัพท์มือถือ

“ผู้บริโภคยุคดิจิทัลมืออาชีพต้องทำข้อเสนอเป็น อยากได้อะไร เพื่อให้มีการแก้ไขเชิงระบบ เชิงนโยบาย ไม่ใช่แค่การบ่นเท่านั้น” ชโลม กล่าว

ด้าน สรศักดิ์ ระดาเขตร์ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง (สกร.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความท้าทายในการคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัลว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้ระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้า จากเดิมจะรักษาสิทธิเรื่องราคา ตำหนิผลิตภัณฑ์ วันนี้เป็นการนำเสนอฝ่ายเดียว

“อยากเห็นการจัดการเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่หลุดไป ทำอย่างไรให้คนที่ถูกหลอกลวง หรือซื้อสินค้าไม่ตรงปก แม้กระทั่งเมื่อจ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ จะมีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดอย่างไรเพื่อช่วยผู้บริโภคในพื้นที่ให้ได้เงินคืนหรือให้ได้รับความเสียหายน้อยลง” สรศักดิ์ กล่าว

ในส่วนของ สิรินนา เพชรรัตน์ กรรมการนโยบาย ในฐานะผู้แทนเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ให้ความเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของกรรมการนโยบายว่า การสนับสนุนการทำงานขององค์กรสมาชิกให้เข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้จริง ในช่วงที่ผ่านมากรรมการนโยบายได้ทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหลายเรื่อง เช่น ข้อเสนอการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ค่ารถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน เป็นต้น

ส่วน กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสตูล สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า การทำให้การทำงานมีระบบที่ชัดขึ้น รวมถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นจะทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หน่วยประจำจังหวัดได้เสนอเรื่องการติดป้ายราคาสินค้า ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประกาศเป็นวาระจังหวัด ที่กำหนดให้สินค้าต้องติดป้ายราคา จากเดิมที่ผู้ประกอบการรายย่อยมองว่าการติดป้ายราคาเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่สำหรับงานคุ้มครองผู้บริโภค การแสดงราคาเป็นเรื่องสิทธิผู้บริโภคควรได้รับ ดังนั้น หน่วยงานจึงไม่ควรละความพยายามที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลกับผู้บริโภค พร้อมทั้งทำงานด้านสื่อสารสาธารณะเพื่อการรู้เท่าทันแก่ผู้บริโภคว่า การไม่ติดป้ายราคาสินค้า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

สุดท้าย รุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การมีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าผลประโยชน์จะเกิดกับผู้บริโภคแน่นอน อีกทั้งความท้าทายในการคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัล สำหรับหน่วยงานราชการแค่วันทำการไม่น่าเพียงพอ แต่ราชการต้องปรับการให้บริการเพื่อไม่ให้ถูกมองทำงานเช้าชามเย็นชาม โดยเฉพาะวันหยุดต่อเนื่อง วันเสาร์ หรือ วันอาทิตย์ ดังนั้น ราชการยิ่งต้องทำงาน ดังเช่นกระทรวงมหาดไทยพยายามปรับตัว แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคและให้บริการช่วงวันหยุด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ค. 2565 เวลา : 17:22:31
12-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 12, 2024, 12:28 pm