นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคี (Bilateral discussions) กับนายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความคืบหน้าของการประชุมรัฐมนตรีผู้แทนเขตเศรษฐกิจและภาคเอกชนร่วมกันในการประชุมเอเปค เมื่อเช้า ในเรื่องหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทำ FTA เอเปค ประเด็นที่หนึ่ง ทุกประเทศล้วนแสดงความเห็นสนับสนุนให้เราเดินหน้าร่วมกันไปสู่การจัดทำ FTAAP หรือ FTA APEC ในปี 2040 ให้ได้ และมีความเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ คือ ประเด็นไหนถ้าสามารถทำได้ก่อนก็ให้ทำโดยไม่จำเป็นต้องรอปี 2040 ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้มีการหารือกันต่อไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่มีความคืบหน้ากว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นที่สอง ทุกประเทศ เห็นตรงกันว่า การทำ FTA ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ควรที่จะเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน โดยควรเปิดโอกาสให้ SMEs หรือกลุ่มสตรีกลุ่มเปราะบางต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในรายละเอียดของข้อตกลงที่จะจัดทำต่อไป และประเด็นที่สาม หลายเขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันว่าการจะทำ FTA ควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะถือว่าเป็นยุคที่มีความจำเป็นที่ต้องมุ่งเน้นในเรื่องอีคอมเมิร์ซ เน้นการอำนวยความสะดวกและการลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเตรียมการสำหรับเผชิญกับโรคร้ายในอนาคตถ้ามีอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นเพราะเรามีประสบการณ์จากการฝ่าวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมาร่วมกัน
และวันนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย (นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ) เข้าพบเมื่อสักครู่ เช่นเดียวกับที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เข้าพบก่อนหน้านี้ตั้งแต่เมื่อวาน (20 พ.ค.65) โดยสำหรับตัวเลขการค้าไทย-รัสเซีย รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 30 ของประเทศไทย โดยปีที่แล้ว (2564) มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 88,200 ล้านบาท หรือ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยส่งออกไปรัสเซียปีที่แล้ว 32,500 ล้านบาท หรือ 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% สินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้ เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แปรรูป เป็นต้น สำหรับการค้ากับรัสเซียเราขาดดุลเพราะต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและเหล็กมาใช้ในการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
โดยประเด็นที่ไทยหยิบยกมาหารือในวันนี้มี 2 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง เนื่องจากไทยกับรัสเซียได้มีคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหพันธรัฐรัสเซียและมีการประชุมร่วมกับมา 4 ครั้งแล้ว ครั้งต่อไปจะเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพได้แจ้งให้ทางรัฐมนตรีรัสเซียรับทราบว่า จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายหารือกันถึงช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ว่าจะจัดการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อไหร่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายแจ้งว่ามีความพร้อม
เเละประเด็นที่สอง ไทยแจ้งความประสงค์ให้รัฐมนตรีการค้ารัสเซียทราบว่าประเทศไทยสนใจทำ FTA กับสหภาพยูเรเซียซึ่งมี 5 ประเทศประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถานและคาร์กีซสถาน แต่เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคในการประสานงาน เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องใช้สถานทูตไทยในเจนีวา ในการประสานงานส่วนบางประเทศในกลุ่มสหภาพยูเรเซียไม่ได้มีสถานทูตอยู่ในประเทศไทยและรัสเซีย โดยสถานทูตเจนีวาของไทยจะเป็นผู้ช่วยกันประสานงานเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป
ส่วนประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีรัสเซียหยิบยกประเด็นมาหารือประเด็นที่หนึ่ง รัสเซียยังสนับสนุนเป้าหมายทางการค้าที่ตกลงไว้ร่วมกันว่าในปีหน้าจะทำมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ปีที่แล้วไปได้เพียง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่เปลี่ยนเป้าหมาย จะพยายามทำมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด
ประเด็นที่สอง รัสเซียประสงค์สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นรวมทั้งขอการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถใช้บัตรที่เรียกว่า MIR Card และอยากให้มีการสนับสนุนให้มี Direct Flight หรือเที่ยวบินตรง เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ไทยได้แจ้งให้ทราบว่าสำหรับการใช้ MIR Card นั้นธนาคารไทยบางธนาคารมีความสนใจและมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ที่เหลือเป็นรายละเอียดของภาคเอกชนที่จะไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการ ส่วนในเรื่องการจัด Direct Flight เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างกันจะแจ้งให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงคมนาคมได้รับทราบต่อไป
ประเด็นที่สาม รัสเซียแจ้งว่าสนใจสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารและยานยนต์เป็นหลัก อาหารมีทั้งข้าว และผลไม้ และชิ้นส่วนยานยนต์
เเละประเด็นที่สี่ รัสเซียมีความสนใจมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านไอที ขณะนี้มีนักลงทุนจากรัสเซียมาลงทุนที่อมตะฯ และถือโอกาสนี้ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยไปลงทุนที่รัสเซียด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านอาหาร ซึ่งไทยรับทราบและกระทรวงพาณิชย์จะแจ้งให้นักลงทุนรับทราบต่อไปเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นที่มี 5 ประเทศได้วอล์คเอาท์ ในระหว่างที่รัสเซียกล่าวถ้อยแถลง ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในฐานะประธานที่ประชุม มั่นใจว่า การประชุมเมื่อเช้าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและทุกอย่างเดินหน้าไปได้ดีตามเป้าหมาย ส่วนเขตเศรษฐกิจไหนจะมีความเห็นอย่างไรดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละเขต แต่ในภาพรวมของการประชุมเอเปคทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีและเป็นไปตามเป้าหมายทุกอย่าง ช่วงบ่ายจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในช่วงหนึ่งที่จะได้มีการหารือกันเรื่องพหุภาคี และจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป
สำหรับแถลงการณ์ร่วมจะเป็นความเห็นร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิก ยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าทั้งหมดได้ แต่จะต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ทุกเขตเศรษฐกิจกำลังพิจารณารายละเอียดของแถลงการณ์ร่วม หากออกไม่ได้ก็จะเป็นความเห็นแถลงการณ์ของประธานการประชุม ซึ่งไทยไม่กังวลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันคือ ประเทศไทยทำหน้าที่ของเราดีที่สุด ทุกประเทศชมว่าเราทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพได้เป็นอย่างดีไม่มีข้อตำหนิ แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ มีความเห็นร่วมกัน ซึ่งไทยไม่กังวลยังสามารถควบคุมกำกับการประชุมได้และทุกอย่างมั่นใจว่าราบรื่น
ซึ่งการประชุมมีความคืบหน้า เมื่อช่วงเช้าทุกประเทศสนับสนุนให้เดินหน้าจากเอเปคที่เป็นกลุ่มความร่วมมือหรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจ พัฒนาเป็น FTAAP ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความคืบหน้าไปในอนาคตถึงปี 2040 ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล
ข่าวเด่น