รัฐมนตรีการค้าและผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ประสบความสำเร็จด้วยดี ตามหัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ย้ำเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก สนับสนุนการค้าพหุภาคี เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปการเจรจา WTO ฟื้นฟูการท่องเที่ยว-เดินทางข้ามพรมแดนหลังโควิด ส่งเสริม SMEs MSMEs สตรีและกลุ่มเปราะบาง หนุนใช้ BCG โมเดล ช่วยกระบวนการผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่ม หวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยสาระสำคัญของแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งเป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้สนับสนุนการทำงานเอเปค ที่สะท้อนหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open.Connect. Balance. โดยเน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และการเร่งรัดให้การเจรจา WTO มีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญ และหาข้อสรุปให้ได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12-15 มิถุนายน 2565 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งการจัดทำความตกลงอุดหนุนประมง การปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร การรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะในส่วนการเข้าถึงยาจำเป็นและวัคซีน และการปฏิรูปองค์กร WTO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า ที่ประชุมยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 โดยให้จัดทำแผนงานเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ภายในปี 2040 รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเชื่อมโยง ผ่านการฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยที่ประชุมแสดงความยินดีที่เอเปคมีการจัดตั้งคณะทำงานการเดินทางอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเรื่องนี้ รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างและรักษาห่วงโซ่อุปทานโลก ที่เปิดกว้างและมีเสถียรภาพด้วย
นางอรมน เพิ่มเติมว่า แถลงการณ์ของประธานฯ ยังสะท้อนประเด็นการหารือเรื่องการสร้างความสมดุล ที่ส่งเสริมให้การค้าควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาปรับใช้ทางธุรกิจและการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (MSMEs) สตรี และผู้เปราะบาง เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าโลก (GVCs) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจที่มีนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ประธานที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคยังได้ออกแถลงการณ์เรื่องการหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของเอเปค ในเรื่องการกำหนดเป้าหมายการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ในปี ค.ศ. 2040 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการหารือระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) โดย ABAC ได้เสนอให้เอเปคเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิกที่มีคุณภาพสูง เร่งให้สัตยาบันและบังคับใช้ความตกลง FTA ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะความตกลง RCEP ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ที่สามารถตอบสนองบริบทโลกใหม่ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (MSMEs) สตรี และกลุ่มผู้เปราะบาง การส่งเสริมนโยบายทางการค้าที่จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกเอเปค
ทั้งนี้ เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เป็นกลุ่มความร่วมมือขนาดใหญ่มีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน หรือร้อยละ 38 ของประชากรโลก มี GDP รวมมูลค่า 1,768 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 62 ของ GDP โลก
สำหรับในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 12.2 ล้านล้านบาท (385,394.17 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.52 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท (195,319.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 70.88 ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย และไทยนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 4 ล้านล้านบาท (190,074.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 71.01 ของการนำเข้ารวมทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. – มี .ค. 2565) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท (102 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.91 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท (50.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.95 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท (51.10 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.87 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ข่าวเด่น