
เคยสงสัยกันไหมว่า “เงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ” หรือ "Money Supply" นั้นมันนับจากอะไร จริงๆถ้าจะพูดกันในเชิงเทคนิคแล้ว Money Supply จะสามารถคำนวณได้จาก Money Multiplier คูณกับ Monetary Base โดย Money Multiplier คือ ตัวคูณทางการเงิน ส่วน Monetary Base ก็คือฐานเงิน เป็นเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนทั้งรูปแบบของเงินสดและเงินที่สำรองอยู่ในธนาคาร โดยปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ จะถูกกำหนดโดยนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งถ้าพูดกันง่ายๆเลยคือ Money Supply ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น จะขึ้นอยู่กับผู้กุมอำนาจอย่างธนาคารกลางนั่นเอง และเหตุผลที่ต้องออกนโยบายมากำกับดูแลเพิ่มลดปริมาณเงินในแต่ละครั้ง ก็เป็นเพราะธนาคารกลางจำเป็นต้อง Take Action หรือแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจอะไรบางอย่างในช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับผู้อ่านที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงของข่าวเศรษฐกิจ คงจะเคยได้ยินคำศัพท์เฉพาะอย่าง “QE” และ “QT” กันมาบ้างแล้ว ตามการประกาศของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้นี่เองเป็นชื่อเรียกของนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางที่นำมาดูแลจัดการเรื่อง Money Supply (เปรียบได้กับชื่อกระบวนท่าที่ใช้ในการต่อสู้และตั้งรับสภาวะเศรษฐกิจ โดยมี Money Supply เป็นสาระสำคัญ) โดย QE (Quantitative Easing) คือ นโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ที่ธนาคารกลางจะทำการเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะยาวจากตลาดเสรี (เข้าซื้อพันธบัตรของตัวเองคืนหรือสินทรัพย์ต่างๆ) เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ช่วยหนุนการกู้ยืมและลงทุน ที่ภาคเอกชนจะมีต้นทุนในการกู้ยืมที่ต่ำลง พยุงให้การผลิตยังไปต่อได้ หรือพูดง่ายๆก็คือการพิมพ์เงิน หรืออัดฉีดเม็ดเงินและสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง การทำ QE จึงถูกนำมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยฟืดเคือง
ส่วนขั้วตรงข้ามกันคือ QT (Quantitative Tightening) เป็นนโยบายการเงินแบบหดตัว ที่ธนาคารกลางจะลดสภาพคล่องออกจากระบบที่เคยอัดฉีดไปก่อนหน้านั้น โดยจะทำการลบออกไปเลยเหมือนตอนทำ QE ที่พิมพ์เงินขึ้นมาเฉยๆเช่นกัน ซึ่งจะมีการทำ QT ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างฟู่ฟ่า จนอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินระดับ จนคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจต้องดึงเงินออกจากระบบนั่นเอง
โดยเหตุการณ์อย่างสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นถดถอยอย่างรุนแรง ผลประกอบการภาคเอกชนลดลง จนมีหลายธุรกิจล้มตายหายไปมากมาย อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนมีเงินสดในมือลดลง เป็นเหตุผลที่ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจฟืดเคือง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จึงได้มีการ QE เติมเงินเข้าไปในระบบ หรือคือพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วนำไปซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์เพื่อลดอัตราผลตอบแทนให้ต่ำลง
แล้วผลกระทบจากการเพิ่มลด Money Supply ด้วยการทำ QE และ QT ส่งผลต่อภาคการลงทุนอย่างไร?
จากที่เกริ่นไปข้างต้นว่า การออกนโยบายทางการเงินด้วยการทำ QE และ QT ก็เพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจใน ณ ขณะนั้น ซึ่งภายหลังการจัดทำนโยบายทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เผชิญอยู่ได้แล้ว นโยบายทางการเงินที่ออกมานั้นก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังภาคการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน การทำอะไรบางอย่าง ก็จะเป็นตัวต้นเหตุที่ส่งผลกระทบต่อยาวออกไปเป็นทอดๆ เหมือนกับ Butterfly Effect) อย่างการทำ QE เพิ่ม Money Supply เข้าไปในระบบ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์เพื่อลดความร้อนแรงของผลตอบแทน หรืออัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไป ฉะนั้นจากที่เศรษฐกิจเกิดการหดตัวอยู่ ผู้คนมีเงินสดในมือลดลง จนต้องประกันกระแสเงินสดตัวเองด้วยการเอาเงินไปฝากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตร การทำ QE ที่ไปกว้านซื้อพันธบัตรจึงทำให้สัดส่วนผลตอบแทนที่จะได้รับลดลง เมื่อผลตอบแทนลดลงจึงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ไปอยู่ใน Risky Assets ทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูง จึงเป็นเหตุผลที่ช่วงปี 2020 ที่มีการทำ QE เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเฟื้องฟูอีกครั้ง ราคาของ Risky Assets ได้มีการขยับตัวขึ้น ทำให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างกองทุน หุ้น หรือคริปโต มีการ Rebound ถีบตัวขึ้นสูงจากที่นอนซมอยู่ในช่วงแรกของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด เรียกได้ว่าหลังเกิดการทำ QE ในปี 2020 สินทรัพย์อย่างคริปโตก็มีการเติบโตอย่างร้อนแรงมาโดยตลอด
งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกลา การทำ QE ก็เช่นกัน นโยบายนี้ไม่สามารถที่จะคงอยู่ได้ตลอดไป เนื่องจากเป็นการบิดเบือนระบบเศรษฐกิจ และต้องรักษาสมดุลของ Money Supply เอาไว้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ธนาคารกลางได้เข้าช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจจนกลับมาเฟื่องฟูเต็มที่แล้ว อย่างการทำ QE มาตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรื่องของเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมา (บวกกับปัจจัยทางด้านสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทวีความรุนแรงเข้าไปใหญ่) การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและการลงทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นมาแล้ว ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทานของเงิน กล่าวคือมูลค่าของเงินในตอนนี้ลดลง (มูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ความต้องการเงิน และ Money Supply ปริมาณเงินที่อยู่ในระบบ) เพราะปริมาณของเงินที่อยู่ในระบบมีมากเกินกว่าความต้องการเงิน เมื่ออุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ ก็ทำให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยลดต่ำลง ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นสภาวะเงินเฟ้อนั่นเอง ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ทาง Fed จึงได้มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และทำ QT ควบคู่ไปด้วยเพื่อดึงเงินออกจากระบบ ผลที่ตามมาก็เป็นที่ประจักษ์เลยว่า เงินที่ลงทุนใน Risky Assets หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ถูกเทกระจาดออกไปวางไว้ในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงแทน ตลาดทุนอย่างหุ้นและคริปโตเองจึงมีการปรับตัวลดต่ำลงแบบดิ่งลงเหวในช่วงตลอดเดือนนี้ และไม่มีทีว่าจะกลับขึ้นมาเร็วๆนี้เพราะปัญหาของเงินเฟ้อยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
สรุปแล้ว Money Supply ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่สามารถคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และ Next Move ของธนาคารกลาง โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะทำอะไรต่อไป และส่งผลต่อภาคการลงทุนในหุ้นและคริปโตอย่างไร หากเรารู้จักและจับตาความเคลื่อนไหวของมันก็สามารถที่จะเตรียมตัววางแผนการลงทุนของตัวเอง และการบริหารกระแสเงินสดเพื่อประกันความมั่งคั่งได้ไม่ยากนัก
ข่าวเด่น