นับตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันก็เริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหภาพยุโรป เริ่มส่งสัญญาณนโยบายการเงินเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงยืดเยื้อ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า จากปัจจัยลบดังกล่าว กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนจึงใช้กลยุทธ์ Wait & See ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ด้วยการถือเงินสดหรือโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ คำถามตามมา คือ จะลงทุนอย่างไรในช่วงตลาดหุ้นผันผวน โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มที่ซื้อหุ้นและมั่นใจว่าราคาจะขยับขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ ราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงถือหุ้นต่อเพราะหวังว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นในวันถัดๆ ไป พูดง่ายๆ คือ ไม่กล้าลงจากดอย เพราะลงเมื่อไหร่พอร์ตลงทุนจะเสียหายมาก หรือถ้าซื้อถัวเฉลี่ยก็คงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย
เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีการวางกลยุทธ์ Cut Loss (การขายหุ้นออกไปด้วยการตัดขาดทุน เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ก่อนที่จะขาดทุนมากไปกว่าปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดีกรณีตลาดหุ้นผันผวนหรือปรับลดลงเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน
สำหรับนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจและมองว่าช่วงตลาดหุ้นผันผวนหรือเป็นขาลง คือ จังหวะที่ดีในการเลือกซื้อหุ้นดีแต่ราคาถูก คำถามที่ตามมา คือ ท่ามกลางพายุที่กำลังพัดกระหน่ำจะมองหาหุ้นเป้าหมายได้อย่างไร และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหุ้นตัวนั้นจะไม่ทำให้ขาดทุน นี่คือสูตรเร่งรัดคัดกรองหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงตลาดผันผวน
Safe
การคัดเลือกหุ้นที่มีความปลอดภัยหรือมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ โดยวิธีที่นิยมใช้เพื่อวัดความเสี่ยง คือ ค่าเบต้า (Beta) ด้วยการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น หรือเรียกในเชิงสถิติว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับดัชนีหุ้น
ถ้าตลาดหุ้นอยู่ในช่วงผันผวน ไร้ทิศทางชัดเจน ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำกว่า 1 (Low Beta) เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยหุ้น Low Beta มักจะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลจะสามารถเป็นกันชนที่จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาได้ เนื่องจากลักษณะของหุ้นปันผลจะเป็น Low Beta มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มีฐานะทางการเงินที่ดี และปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง
ค่าเบต้าน้อยกว่า 1 หมายถึง ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนน้อยกว่าตลาด ซึ่งมักจะเป็นหุ้นปลอดภัยหรือหุ้นตั้งรับ (Defensive Stock) เช่น หุ้น XYZ มีค่าเบต้าที่ 0.5 เท่า หากดัชนีหุ้นปรับขึ้น 10% ราคาหุ้นตัวนี้จะขึ้น 5% ในทางกลับกัน หากดัชนีหุ้นปรับลดลง 10% ราคาหุ้นจะลดลง 5%
Cheap
ใคร ๆ ก็อยากได้ของดีราคาถูก และวิธีที่นิยมใช้ คือ อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ratio) เป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น จะบอกให้รู้ว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้น สูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชีของหุ้นดังกล่าว โดยค่านี้ไม่ควรเกิน 1 เท่า ดังนั้น ยิ่งซื้อหุ้นได้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากเท่าไหร่ ยิ่งดี
Quality
เทคนิคการดูกิจการที่ดีต้องดูความสม่ำเสมอของผลกำไร รวมถึงดูอัตราการเติบโตและอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง (Dividend Payout Ratio) ซึ่งจะวัดได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นหุ้นปันผลหรือไม่ โดยปกติอัตราส่วนนี้จะคำนวณจากเงินปันผลเปรียบเทียบกับอัตรากำไรต่อหุ้น หลายบริษัทที่เป็นหุ้นปันผลจะมีอัตราส่วนนี้สูงถึง 70 – 80% และบางบริษัทสูงถึง 90% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้าหรือใกล้อิ่มตัวจึงไม่ต้องการใช้เงินลงทุนมากนัก เมื่อทำธุรกิจได้กำไรจึงมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินปันผลสูง แต่หากเป็นหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูงด้วย และแนวโน้มอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ดีถือว่าเป็นหุ้นคุณภาพที่น่าลงทุน
หากนักลงทุนเข้าใจสัจธรรมของตลาดหุ้นว่า “มีขึ้น ย่อมมีลง” และช่วงตลาดผันผวนอาจสามารถทำกำไรได้ยากขึ้น พูดง่ายๆ คือ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเลือกหุ้นได้ถูกตัวเหมาะกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันมีวินัยเคร่งครัด ผลลัพธ์ที่ตาม คือ ความสำเร็จจากการลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ข่าวเด่น