นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการตลาดวิสาหกิจเพื่อสังคม เชื่อมธุรกิจสร้างสรรค์ สู่สั่งคมที่ยั่งยืน (SE Connect) ที่สามย่านมิตรทาวน์ พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่า
วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว และประเทศไทยก็เริ่มดำเนินการมาในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งขณะนี้ได้มีการจดทะเบียนการดำเนินธุรกิจแบบโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งคำจำกัดความนั้น หมายความว่าการจดทะเบียนวิสาหกิจนี้จะไม่มุ่งเน้นผลกำไรอย่างเดียวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แต่มีมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยจะมีการแบ่งปันรายได้และกำไรไปสู่สังคมด้วย คล้ายกับการต่อยอด CSR ที่คนไทยรู้จักดี แต่ไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งก็จะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล เช่น การจัดซื้อจัดจ้างเกิน 500,000 บาทของภาครัฐ ก็สามารถซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เพื่อให้มีกำไรแล้วนำไปแบ่งปันให้กับสังคมต่อไปได้
ซึ่งเรื่องนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ตั้งแต่ตนเข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ก็ได้ขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในหลายเรื่องทีเดียว เช่น ขณะนี้การจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เพิ่มเติมขึ้นมาจนถึงวันนี้ มี 191 แห่งแล้ว ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 65 จะทำให้ได้ 190 แห่ง แต่ขณะนี้เพียงไม่ถึง 6 เดือน ก็ทำได้เกินเป้าหมายแล้ว ก็หวังว่าจะมีการจดทะเบียนเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นประโยชน์กับสังคม และประเทศ มีทั้งปริมาณเพิ่มขึ้นและมีความเข้มแข็งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นสำคัญที่เป็นห่วงคือ วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเดินเดี่ยวไม่ได้เพราะยังไม่เข้มแข็งพอ ยกเว้นบางแห่งที่เข้มแข็งแล้ว เช่น ดอยคำ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งอย่างชัดเจน แต่ที่เหลือหลายแห่งยังอ่อนแออยู่ ดังนั้นการจับมือกันสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการผลิต เรื่องทุน เรื่องการตลาด จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นเราจึงได้พยายามสร้างภาคีเครือข่าย ทำ MOU อยู่กับ 18 องค์กร และวันนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในการนำภาคีเครือข่ายทั้งหลายมาพบกัน แลกเปลี่ยนความเห็น จัดสัมมนากัน เพื่อที่จะสนับสนุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมมีความเข้มแข็งขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป และเป็นประโยชน์ทั้งทางธุรกิจที่ให้อยู่รอดได้ และไป
แบ่งปันให้กับสังคมต่อไปได้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายสำคัญของกิจกรรมในวันนี้ และเป็นนโยบายสำคัญของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตนเป็นประธานและของรัฐบาลด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการตลาดในการผลักดันวิสาหกิจชุมชนสู่สากลว่าจะเป็นอย่างไรนั้น รองนายกรัฐมนตรี ตอบว่า สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายในการส่งออกด้วยนั้น ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถส่งออกได้ โดยรูปแบบของการจัด Online Business Matching หรือการจับคู่เจรจากับผู้นำเข้าจากต่างประเทศ และวิสากิจเพื่อสังคมไทยก็เป็นผู้ส่งออกให้ได้เจอกันในภาวะโควิด และสามารถทำยอดขายได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถทำยอดขายได้ถึงกว่า 70 ล้านบาท หากดูตัวเลขรวมก็อาจจะน้อย แต่สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมถือว่าเป็นตัวเลขที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและต่อไปในอนาคต วิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องได้สิทธิพิเศษในการเดินทางไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ถ้ามีศักยภาพพอ ในการที่จะได้พื้นที่บูธ ในการเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็จะได้ทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเดินหน้าได้ไม่เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
ข่าวเด่น