การตลาด
Scoop : Shopee ประกาศปลดพนักงานกะทันหัน ส่อแววธุรกิจ Food delivery เริ่มถึงทางตัน


 

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าว DealStreetAsia ของสิงคโปร์ รายงานว่า Shopee จะปลดพนักงานในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในจำนวนกว่าครึ่งหนึ่ง คือพนักงานในส่วนธุรกิจส่งอาหาร หรือ Shopee Food และบริการชำระเงิน หรือ Shopee Pay ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ

โดยวันต่อมาที่ 14 มิถุนายน 2022 พนักงานใน 2 ธุรกิจดังกล่าวได้รับอีเมลระบุชื่อรายบุคคล แจ้งให้ออกจากงานแบบสายฟ้าแลบ ซึ่งจำนวนพนักงานถูกปลดออกไปกว่า 50% เลยทีเดียว โดยเหตุผลที่ Shopee ต้องจำใจเลิกจ้างพนักงานของตนออกไป สืบเนื่องมาจากผลขาดทุนสะสม โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มในการสร้างรายได้ที่น่าพอใจอย่าง Shopee Food และ Shopee Pay

Shopee Food นั้นเป็นบริษัทลูกที่ให้บริการด้านแพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร หรือ Food Delivery เป็น 1 ในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในช่วงการเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจ E-Commerce เนื่องจากในช่วงที่มีการ Lock Down นักเรียนก็ต้องเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้าน คนวัยทำงานก็จำเป็นต้อง Work from Home แม้ต่อมาจะมีช่วงที่มาตรการ Lockdown จะคลายตัวไป แต่การเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงมีอยู่ การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนักเหมือนแต่ก่อน วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนเราเลยถูกปรับเปลี่ยนใหม่ ต้องอยู่ติดกับบ้าน ต้องทำกิจวัตรประจำวันหลายๆอย่างอยู่ในพื้นที่เดียว ฉะนั้นในกิจกรรมอย่างการ Shopping แบบ Physical ที่เป็นวิธีคลายเครียดอันดับต้นๆของคนไทยมันทำไม่ได้แล้ว ธุรกิจ E-Commerce เลยได้เข้ามาตอบโจทย์ช่องว่างนี้แทน ส่วนเรื่องของอาหารการกินที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในเมื่อไปนั่งกินที่ร้านไม่ได้ ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery ก็เลยเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากการที่ธุรกิจดังกล่าวเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19

 
 
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC พบว่า ในปี 2020 ที่เป็นปีของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีการเติบโตก้าวกระโดดเกือบ 3 เท่าตัว หรือเติบโตอยู่ที่ 179% (YoY) จากการที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นส่วนลดของแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการจากมาตรการ Lock Down ที่ห้ามรับประทานอาหารภายในร้านในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้งานส่งผลให้แพลตฟอร์มต่างต้องเร่งขยายเครือข่ายและระบบหลังบ้าน (Back-office) อย่างเช่น ระบบไอทีและบุคลากร เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์มเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด (เป็นช่วงที่ต้องกอบโกยผลประโยชน์) ด้วยการให้ส่วนลดโปรโมชั่น Incentive แก่ผู้ใช้บริการและไรเดอร์ ส่งผลให้อัตรากำไรยังไม่ค่อยดีนัก แม้ว่าจะมีระดับรายได้เติบโตอย่างมาก อาทิ Foodpanda ในไทยที่มีรายได้ในปี 2020 เติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 435% แต่แพลตฟอร์มยังคงขาดทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 184% อย่างไรก็ตาม Grab มีกำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายได้ที่เติบโตกว่า 125% ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 75%

ในช่วงที่หลายธุรกิจล้มหายตายจากไปจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ธุรกิจ Food Delivery กลับเป็นโอกาสอันหอมหวาน ทำให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการดังกล่าวแต่ละเจ้า ต่างทำกิจกรรมทางการตลาด อัดโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถมเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้าตามที่กล่าวไปข้างต้น ไม่เพียงเท่านี้ธุรกิจอื่นๆ ก็ต่างกระโจนเข้ามาในธุรกิจ Red Ocean แห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือ Shopee แม้ธุรกิจ E-Commerce จะมีการแข่งขันที่รุนแรง ชนิดที่เรียกว่าเผาเงินทิ้ง เพื่อเรียกผู้เข้าใช้งานมาให้ได้ จนมีแต่ผลขาดทุน (โดย Shopee นั้น เมื่อปี 2021 รายได้ 13,322 ล้านบาท ขาดทุน 4,973 ล้านบาท และหากดูยอดจากทั้ง 3 ปี 2019-2021 มีผลขาดทุนรวมกัน 13,889 ล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ Shopee ก็ยังเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจ Food Delivery และร่วมเข้ามาลงสนามเล่นในสมรภูมิอันแดงเดือดนี้ด้วย โดย Shopee เพิ่งเริ่มให้บริการ Shopee Food ในไทยหลังใครเพื่อนในช่วงปลายปี 2021 จึงมีการอัดโปรโมชั่นอย่างหนักหน่วงในการแย่งชิงฐานลูกค้า ทั้งโค้ดส่งฟรี ลดราคาค่าอาหารมากสุดถึง 50% ซึ่งหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า Shopee Food มีความคุ้มค่าที่สุดเพราะมีโปรโมชั่นมาลดค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา และยังเก็บค่า GP หรือค่าคอมมิชชั่นที่ร้านค้าต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม เพียงแค่ 5% จากที่รายอื่นๆ เก็บอยู่ที่ 30%

การจัดโปรโมชั่นกระหน่ำ และการกดให้ราคาของอาหารต่ำลงด้วยการเผาเงินทิ้ง เพื่อที่หวังจะแย่งชิงฐานลูกค้ามาที่ตนให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วกลับมีผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า มูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2022 ก็ยังมีการเติบโต แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 46.4% (YoY) เพราะราคาหรือยอดสั่งซื้ออาหารต่อครั้งในปีนี้คาดว่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อที่สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ผู้คนสามารถใช้ชีวิตข้างนอกได้แล้ว การเติบโตของ Food Delivery จึงทำกำไรได้น้อยลงไปอย่างไม่ต้องสงสัย
 
Shopee Food ที่ทำกำไรไม่ได้เลย และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น การแบกภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ไปพร้อมกับธุรกิจแม่อย่าง E-Commerce ที่กำลังขาดทุนอยู่แล้ว ดูถ้าว่าจะพาให้บริษัทของ Shopee ล้มระเนระนาดไปทั้งหมด มันเลยเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลกับการที่ Shopee ยอมรับการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ยอมถอยตัวเองออกมาด้วยการปลดพนักงานในฝ่ายดังกล่าวออกไป เพื่อให้วิกฤติของบริษัทผ่านพ้นและกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ และเป็นที่น่าจับตามองต่ออย่างมากว่า ธุรกิจ Food Delivery อาจกำลังเจอกับ Challenge ครั้งใหญ่ ที่บริษัท Food Delivery เจ้าอื่นๆ ต้องหาทางผ่านไปให้ได้
 
 
ที่มา https://www.kasikornresearch.com/ https://www.scbeic.com/

LastUpdate 19/06/2565 16:22:12 โดย : Admin
03-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 3, 2024, 12:27 am