กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำทัพหน่วยงานพันธมิตร ลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา จัดสัมมนาชี้ช่องผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกตลาดมาเลเซียและอาเซียน พร้อมเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ แนะช่องทางการทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวบุณิกา แจ่มใส) นำคณะลงพื้นที่จังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา ภายใต้โครงการ “การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ได้จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) และโอกาสทางการค้าในตลาดอาเซียน พร้อมทั้งเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยมีวิทยากรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า กลยุทธ์การเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภค และช่องทางการทำตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และมีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ยะลาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจุดแข็งเกี่ยวกับแหล่งผลิตผลไม้รสชาติดี อาทิ มังคุด ส้ม ลองกอง และกล้วยหิน รวมทั้งเป็นเมืองแห่งทุเรียนคุณภาพและเป็นประตูการค้าสู่ตลาดอาเซียนผ่านด่านถาวรเบตง โดยมีพรมแดนติดกับรัฐเปรัค สหพันธ รัฐมาเลเซีย นอกจากนี้ อำเภอเบตง ยังมีอากาศเย็นตลอดปี สามารถปลูกผลไม้และไม้ดอกเมืองหนาวได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อขยายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียนได้อีกด้วย
“กรมฯ ได้จัดโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้าเสรี กฎระเบียบทางการค้า และพฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียน โดยเน้นการใช้ประโยชน์จาก FTA” นางอรมนเสริม
ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 2565) การค้าของไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 41,997 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก มูลค่า 24,001 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้า มูลค่า 17,996 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปอาเซียน อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ข้าว และไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง โดยไทยส่งออกไปตลาดอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.42 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก และตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรกในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ข่าวเด่น