ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุค Next Normal ประกอบกับเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เทียบเท่าองค์กรชั้นนำระดับโลก EXIM BANK จึงดำเนินการปฏิรูประบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคล (HR Transformation) ปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ และผลประโยชน์ของพนักงานให้ทันสมัย มีความยืดหยุ่น เท่าเทียม พร้อมตอบสนองความต้องการของพนักงานทุกเพศวัย ทั้งยังตอบโจทย์ความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงานควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรและประเทศไทยอย่างยั่งยืน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในทุกมิติ (Diversity and Inclusion) เพศทางเลือกจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมโดยไม่ถูกปฏิบัติอย่างพลเมืองชั้นสอง EXIM BANK จะออกแบบสวัสดิการและผลตอบแทนที่ครอบคลุมความต้องการของพนักงาน รวมทั้งครอบครัว อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โครงการ HR Transformation ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้าง ตำแหน่ง ค่าตอบแทน สวัสดิการ และผลประโยชน์ให้มีความยืดหยุ่น สะท้อนถึงผลงาน มีความเป็นธรรม ส่งเสริมความเท่าเทียม กล่าวคือ พนักงาน EXIM BANK ที่เป็น LGBTQIA+ หรือมีสถานะโสด สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับตนเองได้มากขึ้น โดยนำส่วนต่างที่ครอบครัวจะได้รับมาจัดสรรอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับคู่ชีวิตได้โดยไม่แบ่งแยกเพศสภาพ
ดร.รักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ EXIM BANK จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่างาน โดยค่างานระดับสูงไม่จำกัดเฉพาะพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านธุรกรรมหรือการตลาดซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของธนาคารเท่านั้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและภาวะเงินเฟ้อมีการเร่งตัวขึ้น EXIM BANK จึงพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการทุกประเภทเพื่อช่วยเหลือพนักงาน ทั้งยังจัดให้มีสินเชื่อสวัสดิการเอนกประสงค์ให้พนักงานกู้ได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องเป็นพนักงานประจำที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป กู้ได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลาผ่อนชำระนาน 10 ปี ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสให้เชื่อมโยงกับผลงาน เพื่อให้มีโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถสร้างแรงจูงใจพนักงานให้ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ขับเคลื่อนผลลัพธ์การดำเนินงานของ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยที่มีบทบาท ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลังการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลก
“ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทุกภาคส่วนต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบ Next Normal ทำให้ EXIM BANK ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการทำงาน พัฒนาธุรกิจและบริการขององค์กรให้ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ขององค์กร ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล ดังนั้น เราจึงเร่งสร้าง EXIM BANK ให้เป็นบ้านแห่งความรักและความเข้าใจ (Empathic Workplace) ที่ดูแลความเป็นอยู่และความก้าวหน้าทางอาชีพของเพื่อนพนักงานอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้หลักการ Fair Practice และ Fair Share” ดร.รักษ์ กล่าว
ข่าวเด่น