ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนมิถุนายน) รัฐบาลได้ประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง รวมลิตรละ 5 บาท เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันและข้าวของแพง เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าเดินทาง และค่าครองชีพของประชาชน แต่จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ติดตามราคาพลังงานกลับพบว่า แม้รัฐบาลจะประกาศลดภาษีสรรพสามิตลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงแต่อย่างใด
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ข้อมูลจากเวทีเสวนา ‘แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงของรัฐ เรามาถูกทางหรือยัง’ ซึ่งจัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาน้ำมันแพงในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับค่าการกลั่น การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยให้อ้างอิงราคาจากตลาดประเทศสิงคโปร์รวมไปถึงการกำหนดนโยบายของรัฐ ส่งผลให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ทางออกของปัญหาน้ำมันแพงที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอ มีทั้งการกำหนดเพดานอัตรากำไร การเก็บภาษีลาภลอย การแก้ไข้กฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติข้าราชการในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไปจนถึงทางออกในระยะยาวอย่างการเปลี่ยนผ่านจากปิโตรเลียมไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า
สำหรับสาเหตุของน้ำมันแพงที่ถูกพูดถึงในเวทีเสวนา มีทั้งปัจจัยด้านต้นทุน โครงสร้างราคาน้ำมัน รวมไปถึงลักษณะการแข่งขันของตลาดพลังงานในประเทศไทยด้วย โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน ‘ค่าการกลั่น’ เป็นปัจจัยที่หลักที่ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้น้ำมันในราคาที่ไม่เป็นธรรม ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายว่า ค่าการกลั่น คือ ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นลบด้วยต้นทุนค่าน้ำมันดิบ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลค่าการกลั่นย้อนหลัง 10 ปี (ปี 2555 – 2565) ควบคู่ไปกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก พบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หรือเกินมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 110 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อรัฐบาลปรับลดภาษีสรรพสามิตลง ค่าการกลั่นกลับปรับเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า
“ในระยะเวลา 4 เดือน ค่าการกลั่นถูกปรับเพิ่มขึ้นถึง 4.77 บาทต่อลิตร คือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ค่าการกลั่นอยู่ที่ 1.58 บาทต่อลิตร แต่ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 พบว่าค่าการกลั่นดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 6.55 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก” ผศ.ประสาท กล่าว
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ระบุว่า สถานการณ์ค่าการกลั่นที่พุ่งสูงขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ นั้นเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในสหภาพยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และเป็นปัญหาที่รัฐบาลหลายประเทศพูดถึงและกำลังเร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากค่าการกลั่นไม่ใช่ต้นทุนจริงของโรงกลั่น แต่เป็นราคาที่ถูกสมมติขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขค่าการกลั่นนี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วงภาวะสงคราม ราคาสมมตินี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลไทยยังคงวางเฉย
นอกจากค่าการกลั่นแล้ว ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำมันแพง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน อธิบายว่า ปัจจุบันการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทย อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ บวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย ค่าประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ กลายเป็นค่าใช้จ่ายทิพย์ ที่บวกให้กับผู้ประกอบการ ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทย เมื่อบวกกับค่าการตลาดและภาษีต่าง ๆ ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้นำมันในราคาแพงและไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ทางด้าน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมสะท้อนปัญหาในภาพใหญ่ของตลาดพลังงาน โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1) ตลาดพลังงานในประเทศไทยการแข่งขันของตลาดพลังงานในประเทศไทยไม่ใช่ตลาดเสรีอย่างแท้จริง และไม่มีทางเปลี่ยนเป็นตลาดที่แข่งขันอย่างเสรีได้ เนื่องจากมีผู้แข่งขันในตลาดบางรายมีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างมาก และมีกิจการที่ครอบคลุมเกือบทั้งกระบวนการของธุรกิจพลังงาน จึงเป็นเรื่องยากที่เจ้าอื่น ๆ จะเข้าไปแข่งขันอย่างเสรีและเท่าเทียม 2) การผูกขาดบวกกับการกำหนดนโยบายจากภาครัฐนำมาซึ่ง ‘กำไรที่สูงเกินปกติอย่างถาวร’ และ 3) ความผันผวนในตลาดโลก ทำให้เกิด ‘กำไรที่สูงเกินปกติชั่วคราว’ ดังเช่นกรณีค่าการกลั่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำมันแพง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำมีอยู่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง กำหนดเพดานราคาค่าการกลั่น โดยให้มีการทบทวนเป็นรายปี โดยมองว่า กระทรวงพาณิชย์ควรเข้ามากำกับดูแลโดยปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าควบคุม และสอง รัฐบาลควรกำหนดให้ใช้มาตรการภาษีลาภลอย โดยใช้ต้นแบบจากประเทศอังกฤษ เนื่องจากภาษีลาภลอยจะคิดจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นขั้นบันได โดยกำหนดว่าหากมีรายได้เกินเท่าไหร่จะเริ่มเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งรัฐสามารถใช้พระราชกำหนดในการเก็บภาษีลาภลอย โดยกำหนดเวลาใช้งาน 1 ปี หรือแค่เฉพาะช่วงเวลาภาวะสงครามก็ได้ ไม่ต้องยาวนาน 3 ปีเหมือนประเทศอังกฤษ
อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ มาตรการภาษีลาภลอยสามารถเก็บภาษีย้อนหลังได้ด้วย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินเหล่านั้นไปอุดหนุนกองทุนน้ำมันได้ ทั้งนี้ มองว่าการใช้ภาษีลาภลอยจะทำให้การถกเถียงเรื่องราคาต้นทุนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นราคาจริงหรือราคาทิพย์หายไป
“หากเราไม่รีบแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วด้วยเครื่องมือใหม่ตามที่เสนอมา ยังคงใช้เครื่องมือเดิม ๆ ซึ่งรัฐก็ใช้อยู่ทั้งหมดแล้ว เมื่อกองทุนน้ำมันไม่สามารถรับภาระได้ไหว ผู้ใช้น้ำมันทั้งหลายจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง” เลขาธิการพรรคกล้า ระบุ
สอดคล้องกับ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ที่ระบุว่ารัฐบาลต้องควบคุมราคาค่าการกลั่น เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วต้นทุนการกลั่นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง นั่นแปลว่า หากปกติค่าการกลั่นอยู่ที่ 1 เหรียญก็อยู่ได้ แต่ปัจจุบันปรับขึ้นมาเป็น 10 เหรียญ ผู้ประกอบการก็จะได้กำไรมหาศาล โดยมีข้าราชการที่เป็นกรรมการในธุรกิจโรงกลั่นได้รับประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ นอกจากเรื่องค่าการกลั่นแล้ว มองว่ารัฐต้องจัดการปัญหาเรื่อง ‘ความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกับภาคธุรกิจ’ อย่างเข้มงวด
“กลุ่มทุนพลังงานมีอัตราการเติบโตสูง และมีการยึดโยงกับการสวมหมวกหลายใบของข้าราชการ จึงอยากเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. คุณสมบัติข้าราชการในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และตัดขั้นตอนการนำข้าราชการมาเป็นกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทพลังงานต่าง ๆ” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ในทำนองเดียวกัน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า ควรกำหนดเพดานอัตรากำไร (Profit Ceiling) โดยรัฐบาลต้องทำ คือ กำหนดน้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซหุงต้ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันต่าง ๆ โดยต้องราคาขายส่ง ว่าสามารถบวกค่าการกลั่นได้ไม่เกินกี่บาทต่อลิตร และราคาขายปลีก สามารถบวกค่าการตลาดได้ไม่เกินกี่บาทต่อลิตร
ส่วนประเด็นการเก็บภาษีลาภลอย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สะท้อนปัญหาว่า การเก็บภาษีลาภลอยจะส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายแพงไปก่อน แล้วรอประโยชน์จากภาษีที่รัฐจะจัดเก็บภายหลัง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะได้ประโยชน์กลับมาหรือไม่ นอกจากนี้ อาจจะส่งผลให้ข้าราชการที่เป็นคณะกรรมการบริหารในบริษัทต่าง ๆ ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นจากการจ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เพื่อลดสัดส่วนกำไรในการจ่ายภาษีลาภลอยได้
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านจากการใช้ ‘ปิโตรเลียม’ มาใช้ ‘พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด’ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เราเรียกกันว่า ‘โซลาร์เซลล์’ น่าจะเป็นทางออกจากปัญหาวิกฤติพลังงานแพงในครั้งนี้ โดยปัจจุบัน ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปจำนวนมากเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ตัวอย่างเช่น ประชากรในประเทศนอรเวย์ที่ซื้อรถใหม่กว่าร้อยละ 80 เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ใช้เวลา 19 ปี ในการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 4 ล้านหลังคาเรือนที่ติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ยื่นข้อเสนอถึงคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 โดยมีข้อเสนอทั้งสิ้น 4 ข้อ ดังนี้ 1) ขอให้กระทรวงพลังงานเร่งกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมค่าการกลั่นน้ำมันให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค 2) ขอให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมค่าการตลาดให้เป็นธรรม 3) ขอให้กระทรวงพลังงานทบทวนวิธีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศ และ 4) ขอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (อ่านข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.tcc.or.th /21062565_ petroleum-price_news/)
ข่าวเด่น