ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทุกๆ ต้นปีหรือสิ้นไตรมาส นักลงทุนทั่วโลกมักจะจับตามองวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ เรย์ ดาลิโอ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลก ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าในพอร์ตลงทุนของตัวเองนั้น ลงทุนหุ้นอะไรบ้างและกำลังซื้อหุ้นบริษัทใดเพิ่ม ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ส่วนนักลงทุนไทยก็อาจจะติดตามพอร์ตของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย รวมถึงพอร์ตลงทุนของกองทุนรวม หรือทิศทางของนักลงทุนต่างชาติว่ากำลังเข้าลงทุนหุ้นตัวไหน
การที่นักลงทุนติดตามพอร์ตลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ อาจรู้สึกว่าหากลอกเลียนแบบพอร์ตลงทุน (Copy Trading) ของนักลงทุนมืออาชีพแล้ว อาจได้รับผลตอบแทนในระดับใกล้เคียงกัน ดังนั้น Copy Trading จึงหมายถึง การลอกเลียนพอร์ตลงทุน หรือติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ โดยขั้นตอนเบื้องต้นก่อนตัดสินใจใช้วิธีดังกล่าว มีดังนี้
1. สำรวจตัวเองและศึกษาข้อมูลของหุ้นที่จะลงทุนให้เข้าใจ
แม้ว่าการลอกเลียนพอร์ตลงทุนหรือติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ อาจมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามไปด้วย สิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจ คือ การศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์หุ้นที่กำลังลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พูดง่าย ๆ คือ นอกจากลอกเลียนแบบแล้วต้องเรียนรู้ควบคู่ตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น วิลเลียม โอนีล เจ้าของแนวคิดการลงทุนแบบ CANSLIM ย้อนกลับไปในปี 1959 ขณะที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด ที่คอยส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น เขาสังเกตว่ากองทุน Dreyfus สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น เขาจึงคิดว่าถ้าลอกเลียนแบบการลงทุนของกองทุนนี้น่าจะทำกำไรได้ไม่ต่างกัน
ไม่เพียงแต่ Copy Trading เท่านั้น เขายังศึกษา เรียนรู้ว่าทำไมกองทุนนี้ถึงสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยการบันทึกลงในสมุด เช่น กองทุนซื้อหุ้นอะไร ซื้อที่ราคาเท่าไร ขายหุ้นอะไร ขายที่ราคาไหน รวมถึงศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเทคนิคของหุ้นแต่ละตัว ผลลัพธ์คือ เขาสามารถลงทุนด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นเป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นก็ได้พัฒนาหลักการลงทุนของตัวเองและกลายเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง
2. คัดเลือกต้นแบบนักลงทุนอาชีพให้เหมาะกับตัวเอง
ต้องเลือกนักลงทุนอาชีพที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน คือ ลงทุนแล้วสามารถทำกำไรได้ดีและสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องมีสไตล์และเป้าหมายการลงทุนเหมือนหรือใกล้เคียงกัน เช่น ถ้ามีสไตล์การลงทุนแบบเน้นหุ้นคุณค่า ก็ต้องลอกเลียนพอร์ตลงทุนของนักลงทุนหุ้นคุณค่า หรือหากชื่นชอบการลงทุนหุ้นเติบโตก็ต้องลอกเลียนพอร์ตลงทุนของนักลงทุนที่เชี่ยวชาญหุ้นเติบโต หรือหากเป็นนักลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวัง ก็ต้องลอกเลียนพอร์ตลงทุนของนักลงทุนที่มีสไตล์การลงทุนแบบระมัดระวังเช่นกัน เป็นต้น
3. ศึกษากลยุทธ์ของนักลงทุนมืออาชีพที่เป็นต้นแบบ
ศึกษาประวัติและกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนในอดีตที่ผ่านมาว่ามีผลงานเป็นอย่างไร ช่วงไหนทำผลงานได้ดี ช่วงไหนสร้างผลงานไม่ดีหรือขาดทุน เพื่อทำความเข้าใจกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงการให้ข้อมูล บทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับการจัดพอร์ต การประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อเห็นถึงแนวคิดการลงทุนในปัจจุบันและอนาคต เช่น หากต้องการ Copy Trading กองทุนรวม ต้องศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ หรือสอบถามผู้จัดการกองทุน เช่นเดียวกันหากต้องการลอกเลียนแบบการลงทุนตามนักลงทุนต่างชาติ ก็ต้องดูว่าช่วงเวลานั้นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนหุ้นบริษัทใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ดูได้จากบทวิเคราะห์รายวันหรือสอบถามนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
สำหรับวิธีการ Copy Trading มีหลายรูปแบบ เช่น ลงทุนตามแบบ 100% โดยหากนักลงทุนต้นแบบลงทุนหุ้น 10 ตัวก็ลงทุนตามทั้ง 10 ตัว หรือนักลงทุนต่างชาติลงทุนหุ้น A หุ้น B และหุ้น C ก็ลงทุนตามทั้งหมด รวมถึงสามารถลอกเลียนวิธีจัดสรรเงินลงทุน โดยลอกเลียนแบบกองทุนรวม ในเบื้องต้นให้ดูว่ากองทุนรวมได้จัดสรรเงินลงทุนในหุ้นตัวไหนสูงสุด 5 อันดับแรก เช่น หุ้น A / หุ้น B / หุ้น C / หุ้น D และหุ้น E โดยมีสัดส่วนการลงทุน 10% / 9% / 8% / 7% และ 6% ตามลำดับ จากนั้นก็แบ่งเงินลงทุนตามสัดส่วนดังกล่าว เป็นต้น
ข้อดี
การลอกเลียนแบบการลงทุน นับเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ โดยติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุน ก่อนตัดสินใจว่าจะซื้อ ขาย หรือถือ รวมถึงแนวโน้มว่าจะต้องลงทุนอย่างไร จากนั้นก็ศึกษา เรียนรู้เหมือนกรณีของวิลเลียม โอนีล ที่ลอกเลียนแบบและเรียนรู้จนประสบความสำเร็จ หมายความว่า หากใช้วิธีนี้แล้วประสบความสำเร็จก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเรียนรู้อย่างจริงจัง จะค้นพบสไตล์การลงทุนที่แท้จริงของตัวเองได้ในเวลารวดเร็ว
ข้อเสีย
การลอกเลียนแบบการลงทุน อาจไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนทุกคน ดังนั้น ควรทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มใช้กลยุทธ์นี้ คือ ไม่มีนักลงทุนคนไหนที่ประสบความสำเร็จตลอดเวลา และไม่สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดว่านักลงทุนที่กำลังลอกเลียนแบบนั้นวางกลยุทธ์อย่างไร ที่สำคัญความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนที่กำลังเลียนแบบด้วย ดังนั้น วิธีนี้จึงมีความเสี่ยงและไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
อีกทั้ง เมื่อลงมือใช้วิธีนี้พร้อม ๆ กับการศึกษา เรียนรู้ เมื่อเวลาผ่านไปอาจพบว่าเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เหมาะกับตัวเอง อาจเป็นการเสียเวลามากกว่าเมื่อเทียบกับการเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ข้อควรระวังที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า เตือนเอาไว้หากต้องการลอกเลียนแบบการลงทุน คือ การลงทุนตามเซียน ในช่วงเวลาหนึ่งสามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ตาม หากเข้ามาลงทุนในช่วงท้าย ๆ และต้องซื้อหุ้นในราคาสูง อาจพบว่าหุ้นที่ซื้อกลับมีราคาปรับลดลง ทำให้ขาดทุน และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้นหลายตัวที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนตามเซียนกันมาก (ที่มา : หนังสือเล่นหุ้นตามเซียน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร, 2556)
“คงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้เรื่องของการลงทุนโดยไม่สนใจว่าเซียนเขาทำอย่างไรกัน ดังนั้น ควรต้องรู้ว่าใครเป็นเซียนตัวจริงและเป็นเซียนแนวไหน ต้องเรียนรู้จากเซียน แทนที่จะเป็นการลงทุนตามเซียน นั่นคือ เรียนรู้หลักการและเทคนิคการลงทุน ส่วนเรื่องตัวหุ้นจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง” ดร.นิเวศน์ กล่าว สรุป
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ข่าวเด่น