การค้า-อุตสาหกรรม
ฟื้นฟูรุดหน้า การบินไทยรุกยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการสร้างความเชื่อมั่นรับธุรกิจการบินฟื้นตัว รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลสภาพคล่องสูงสุดในรอบ 24 เดือน


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤติสถานการณ์ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทยที่ดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมาโดยลำดับ ตั้งแต่การนำมาตรการ Test and Go มาใช้ในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางต่างๆ เรื่อยมาจนมาถึงการเปิดประเทศ อย่างเต็มรูปแบบในวันนี้ (1 กรกฎาคม 2565) ประกอบกับภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทยอยผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เช่นเดียวกัน บริษัทจึงได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินที่ให้บริการเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเติบโตด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยในช่วงวันที่ 1 - 27 มิถุนายน 2565 จำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันของบริษัทและสายการบิน ไทยสมายล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,568 และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 และ 4,929 คน ต่อวันในช่วงเดือนเมษายน - เดือนตุลาคม 2564 อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในส่วนของการบินไทยช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 บริษัท ได้เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทาง ได้แก่ เดลี มุมไบ เจนไน เบงกาลูรู ละฮอร์ การาจี อิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ เมลเบิร์น ลอนดอน จาการ์ตา ธากา แฟรงก์เฟิร์ต ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก ฯลฯ และช่วงไตรมาสที่ 3 มีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ได้แก่ จาการ์ตา ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก ซูริก โซล และเปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางหลักไปยังจุดหมายปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โตเกียว (สนามบินฮาเนดะ) บรัสเซลส์ เจดดาห์ ขณะที่รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบิน เช่าเหมาลำขนส่งสินค้ารวมในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีจำนวน 2,104 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41


 
กอปรกับความสำเร็จและคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมต่อสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้อยู่ในแผนดำเนินธุรกิจ

ทั้งจากการจำหน่ายและให้เช่าที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทรวมเป็นเงินโดยประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท ที่นำมาใช้ในการดำรงกิจการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ การปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ อาทิ ต้นทุนอากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยาน การเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการปฏิบัติการบิน บุคลากรและสิทธิประโยชน์บุคลากร การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการหารายได้ ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านการพาณิชย์ การปฏิรูปด้านดิจิทัล การสร้างรายได้ใหม่จากหน่วยธุรกิจการบิน อาทิ การจัดทำความร่วมมือทางธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด อาทิ ปาท่องโก๋การบินไทย และการเปิดให้บริการภัตตาคาร “อร่อยล้นฟ้า” ของหน่วยธุรกิจครัวการบิน การให้บริการเที่ยวบิน เช่าเหมาลำสำหรับการขนส่งสินค้าของฝ่ายพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ การพัฒนาศักยภาพการให้บริการ ซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยาน ทำให้บริษัทมีระดับกระแสเงินสดในการดำเนินกิจการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ระดับความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงจากเดิม
 
 
คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันนี้ (1 กรกฎาคม 2565) โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุ การไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้ เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เผื่อไว้อีกด้วย

2. ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้
 

 
(ก) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อ ใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

(ข) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้น สามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิม จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทาง การเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้น จำนวน ร้อยละ 24.5 เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 75.5 จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและ ลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท

(ค) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผน เป็นทุน ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระ การชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท

(ง) จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขาย

ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อ หุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำ หุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท
 

 
รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้น ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวก ในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568

3.แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรม การบินฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตาม แผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน

4. แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความมั่นใจว่าการยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร ลูกค้า ต่อการฟื้นฟูกิจการของบริษัท และเป็นก้าวย่าง ที่สำคัญในการวางรากฐานเพื่อการเติบโตและสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตเพื่อให้บริษัทเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนในชาติภาคภูมิใจ เป็นสายการบินหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ และกำลังสำคัญในการสนับสนุน และขับเคลื่อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะเวลาอันใกล้นี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ค. 2565 เวลา : 16:08:25
20-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 20, 2025, 7:05 pm