ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำผึ้งชันโรง ด้วยเครือข่าย Big Brothers จากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อยอดพัฒนาสูตรอาหารสำหรับการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ นำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง สมุทรปราการ และลำปาง ขยายผลต่อการเป็นแบรนด์สินค้าคุณภาพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน พร้อมตั้งเป้าหมาย ก้าวสู่การเป็นแบรนด์สินค้าระดับประเทศ คุณภาพเทียบเท่าน้ำผึ้งมานูก้านิวซีแลนด์
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร อัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศ แม้จะได้รับผลกระทบ แต่ก็พบว่ายังมีศักยภาพความพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศให้มีศักยภาพ ตามเจตนารมณ์ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มอบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยไปสู่ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นทิศทางที่สามารถนำพาประเทศ ให้ก้าวพ้นวิกฤตการผ่านเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยต้นทุนทางการเกษตรดั่งเดิมของประเทศ ต่อยอดไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก และเป็นฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับเป้าหมายของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ขับเคลื่อนรูปธรรมผ่านนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ในการประสาน ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นเครือข่าย Big Brothers หรือ เครือข่าย Social Enterprise ที่ประกอบไปด้วยภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มีการร่วมทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี โดยในปีนี้มุ่งเป้าไปที่ การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรฟาร์มผึ้ง ผ่านการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงที่มีคุณสมบัติพิเศษและราคาแพง กว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยอาศัยการวิจัยมาใช้ประโยชน์ ภายใต้ความร่วมมือของสมาชิกเครือข่ายฯ พัฒนาการเพาะเลี้ยงและพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับผึ้งชันโรง ในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มคุณค่าของน้ำผึ้งชันโรงที่ผลิตได้ เพื่อให้มีคุณภาพและมูลค่าสูง ขยายผลไปสู่การผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย
ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะนำร่องของการดำเนินงาน กำหนดเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ น้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรปราการในชุมชนบางน้ำผึ้ง และจังหวัดลำปาง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในแต่ละพื้นที่ชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และพัฒนาในส่วนของขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงให้มีปริมาณมากกว่า 5 ลิตรต่อวันต่อพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัยเชิงลึกเพื่อศึกษาสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงผึ้ง โดยในแต่ละพื้นที่จะใช้สูตรที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าในระยะเริ่มต้นได้ไม่น้อยกว่าปีละ 20 ล้านบาท
“สำหรับในระยะต่อไป ตั้งเป้าวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับคุณค่าสารอาหารที่มีเฉพาะในน้ำผึ้งชันโรง เพื่อยกระดับจากแบรนด์สินค้าประจำจังหวัด ไปสู่แบรนด์สินค้าระดับประเทศ ที่มีคุณภาพผลิตภัณฑ์ และคุณภาพของสารอาหารเฉพาะ เทียบเท่าน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) สินค้าขึ้นชื่อของประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในปีที่ผ่านมามูลค่ากว่า 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ...” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
โดยดีพร้อมได้จัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจ เพื่อสังคม...น้ำผึ้งชันโรง” ณ ห้องบอลรูม 3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล เพื่อตอกย้ำปณิธานความร่วมมือ ของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำผึ้งชันโรงไปสู่การเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6873 ต่อ 4 ติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th
ข่าวเด่น