กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) และ บริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด สานต่อโครงการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องปีที่ 28 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยเกิดความรัก ความหวงแหนสัตว์ป่าและป่าไม้ รักษาสมดุลธรรมชาติให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการประกวดภาพถ่าย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 650,000 บาท ส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2565
ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาของสหประชาชาติ ด้านการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากความรัก ความหวงแหน ความตระหนักรู้ และความร่วมแรงใจของประชาชนคนไทยในการดูแลมรดกอันล้ำค่าให้สืบไปถึงคนรุ่นหลัง ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างเครือซีพีและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการจัดโครงการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ตลอด 28 ปี ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของเครือซีพี ผ่านการปลูกจิตสำนึกคนไทยด้วยภาพถ่ายสัตว์ป่าและป่าไม้ ซึ่งได้รับความสนใจและตอบรับจากช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นทั่วประเทศในการส่งภาพเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก มีความงดงามและทรงคุณค่า ซึ่งภาพถ่ายที่ชนะรางวัล เครือซีพีได้นำไปเผยแพร่ให้ความรู้ และผลิตเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ และสื่อโซเชียลต่างๆ พร้อมจัดทำเป็นหนังสือภาพและปฏิทินชุด ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ อีกทั้งกรมอุทยานฯ ยังนำไปเผยแพร่ ต่อยอดเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ อีกด้วย ดังนั้นมั่นใจว่าโครงการประกวด ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 จะยังคงได้รับความสนใจจากคนไทยอีกเช่นเคย”
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เกียรติจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ ในการเป็นพันธมิตร โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ตั้งแต่ 2538 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 28 ปี ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างแรงกระตุ้นและความตะหนักให้แก่คนไทย ให้เห็นถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมาก ด้วยการร่วมถ่ายทอดความงดงามของสัตว์ป่าและป่าไม้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติต่างๆ ทั่วประเทศผ่านงานประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 อันจะมีส่วนช่วยตอบโจทย์พันธกิจสำคัญของกรมอุทยานฯ ในการป้องกัน ปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึก และเสริมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ซึ่งการอนุรักษ์ธรรมชาติมีหลากหลายวิธี ไม่จำกัดเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งภาพถ่ายก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยสื่อให้คนไทยได้รับรู้ว่า เมืองไทยของเรายังมีทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้ และอื่นๆ ที่สำคัญ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์รักษาไว้”
สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการจะพิจารณาจากการถ่ายทอดแนวคิดและสื่อความหมายของ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์ ความยาก-ง่าย และเทคนิคการถ่ายภาพโดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์มีค่า และประเภทป่ามีคุณ ใน 2 ระดับ คือ
1.ระดับบุคคลทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท และ หัวข้อพิเศษ
ประเภท ‘สัตว์มีค่า’ แบ่งเป็น 4 ประเภทย่อย
- ภาพนก เช่น เป็ด ไก่ป่า เหยี่ยว นกยาง นกอ้ายงั่ว ฯลฯ
- ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ช้าง เสือ กวาง ลิง เลียงผา วาฬ ฯลฯ
- ภาพสัตว์อื่น ๆ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ แมลงต่าง ๆ ฯลฯ
- ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า เป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงพฤติกรรม การแสดงออกของสัตว์ป่าในด้านต่าง ๆ อาทิ การกินอาหาร การเลือกคู่ ผสมพันธุ์ การเลี้ยงลูก การต่อสู้ หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่น่าประทับใจ
ประเภท ‘ป่ามีคุณ’ แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย
- ภาพทิวทัศน์ (Landscape) คือ ภาพถ่ายที่แสดงความงามของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในมุมกว้าง เช่น ภาพทิวเขา สายหมอก น้ำตก ทะเล ทุ่งหญ้า ป่าดิบ ป่าพรุ ฯลฯ
- ภาพถ่ายระยะใกล้ (Macro) คือ ภาพถ่ายในมุมมองที่เจาะจง เน้นให้เห็นถึงความงดงามแห่งธรรมชาติของ พันธุ์ไม้อันมีคุณค่า อาจจะเป็นภาพถ่ายแนว Close-up ก็ได้ เช่น เห็ด มอส เฟิร์น ดอกไม้ กล้วยไม้ ใบไม้ ฯลฯ
- ภาพต้นไม้มีเรื่องเล่า คือ ภาพถ่ายต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวเกี่ยวข้องความเชื่อ ความศรัทธาของวิถีชุมชนท้องถิ่น หรือมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจหรือเคยถูกกล่าวถึงในวรรณคดี หรือเป็นต้นไม้ที่หายาก และยังคงเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น
ประเภทหัวข้อพิเศษ ‘ความรักและความประทับใจผืนป่า…เขาใหญ่’
เป็นภาพถ่ายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เท่านั้น โดยเป็นภาพที่สะท้อนถึงความรัก ความประทับใจ ความงดงามของสัตว์ป่าหรือป่าไม้ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยไม่จำกัดว่าจะถ่ายเป็นภาพสัตว์ป่าหรือภาพป่าไม้
2. ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ประเภท ‘สัตว์มีค่า’ ไม่แบ่งประเภทย่อยเหมือนระดับบุคคลทั่วไป
2. ประเภท ‘ป่ามีคุณ’ ไม่แบ่งประเภทย่อยเหมือนระดับบุคคลทั่วไป
เกณฑ์การตัดสิน
การถ่ายทอดแนวคิด อารมณ์ และการสื่อความหมายภายใต้แนวคิด 'สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ' ความสวยงามและการจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์
รางวัลยอดเยี่ยมระดับบุคคลทั่วไป ประเภท ‘สัตว์มีค่า’ จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภท ‘ป่ามีคุณ’ จะได้รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล ทั้งระดับบุคคลทั่วไปและระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้โล่พร้อมเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 650,000 บาท และสิทธิท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมที่พัก 3 วัน 2 คืน
ขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่สนใจสามารถส่งภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของสัตว์ป่าและความงดงามสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ พร้อมสื่อแนวคิดและความหมายของคำว่า ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ส่งภาพได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2565 ติดตามรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ และ IG : cp_photocontest สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ทรูปลูกปัญญา โทร. 02-858-6378 หรือ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช โทร. 0-2579-6666 ต่อ 1641 และเว็บไซต์ http://portal.dnp.go.th/p/WildlifeConserve
ข่าวเด่น