นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) “ตลาดนำการผลิต” และ “การเจาะตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพ” โดยมอบหมายให้กรมฯ เร่งรัดผลักดันการส่งออกและขยายตลาดสินค้าไทยสู่เมืองรองเพิ่มเติม ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว (สคต.โตเกียว) ได้เห็นถึงศักยภาพในการส่งออกสินค้ากล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติม เนื่องจากประชากรญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมเป็นอย่างมาก โดยประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการนำเข้ากล้วยจากต่างประเทศประมาณปีละ 1 ล้านตัน สำหรับประเทศไทยได้โควตาส่งออกกล้วยหอมไปญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน (ภาษี 0%) แต่ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกกล้วยหอมได้เพียงปีละประมาณ 2,000 – 3,000 ตัน เนื่องจากคุณภาพกล้วยหอมไทยยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมเพิ่มขึ้นทุกปี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความต้องการของตลาด และโอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทยเพื่อขยายตลาดส่งออกสู่ตลาดเมืองรองในญี่ปุ่น ปี 2565 เป็นปีแรก เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายกล้วยหอมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น โดยโครงการนี้ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกกล้วยหอมและการพัฒนาสินค้าแปรรูปจากกล้วยหอมให้ตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 โดย Mr. Nobuo SHIRAHAMA ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการตลาดและการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยหอมสู่ประเทศญี่ปุ่น และคุณพิมใจ มัตซึโมโตะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ และผู้นำเข้าสินค้าไทยมามากกว่า 30 ปี มาบรรยายให้ผู้ประกอบการไทยกว่า 90 ราย จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึก ซึ่งจะคัดเลือกผู้ประกอบการ ที่มีความพร้อมประมาณ 10 ราย (นำร่องจากเขตพื้นที่ภาคเหนือ) เข้าร่วมโครงการฯ โดยผู้เชี่ยวชาญจะลงพื้นที่ (สถานประกอบการ/โรงงาน/แปลงเพาะปลูก) เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด เช่น การแปรรูปกล้วยหอมให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น คุณภาพและมาตรฐานสินค้า ขนาดและปริมาณที่เหมาะสมกับตลาดญี่ปุ่น และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้า และกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่นเป็นรายบริษัท/เกษตรกร ซึ่งหลังจากดำเนินกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกแล้ว จะมีการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าญี่ปุ่นภายในเดือนกันยายน 2565 ต่อไป
ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าผลไม้ ปี 2565 (ม.ค.-พ.ค. 65) รวมทั้งสิ้น 86,222.34 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.19 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ตามลำดับ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญลำดับที่ 8 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 390.50 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.33
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
ข่าวเด่น