
พายุ คือสภาพบรรยากาศที่มีความรุนแรง โดยเกิดจากอากาศที่ร้อนลอยตัวสูงขึ้น จนพื้นใดพื้นที่หนึ่งตรงนั้นมีแรงดันอากาศที่ต่ำลงกว่าบริเวณรอบๆ ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ขณะที่อากาศในระดับสูงขึ้นไปและอากาศเหนือพื้นผิวมารวมตัวกัน ก่อให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนที่แบบวงกลมของกลุ่มเมฆที่รู้จักกันในชื่อ "พายุดีเปรสชัน" เมื่อสะสมกำลังลมจนมีความเร็วมากกว่า 39 ไมล์ต่อชั่วโมง พายุโซนร้อนก็ก่อตัวขึ้น และหากกำลังลมทวีขึ้นเป็น 74 ไมล์ต่อชั่วโมง "พายุเฮอร์ริเคน" ก็จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งพายุเฮอร์ริเคนลูกหนึ่งสามารถปลดปล่อยพลังงานเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กถึง 500,000 ลูก หรือเรียกได้ว่าพลังทำลายล้างอาจเข้าขั้นหายนะเลยทีเดียว
ในของภาคเศรษฐกิจ ก็เปรียบได้กับสภาพบรรยากาศที่ทุกคนต่างสัมผัสถึงได้ และมีอิทธิพลในการใช้ชีวิต ซึ่งบรรยากาศของสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้ทั้งโลกต่างรับรู้ได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงอึมครึม จากสภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ทำให้ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องมีการออกนโยบายทางการเงินที่ตึงตัว อย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่เริ่มจากการขึ้น 0.25% ซึ่งถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และคาดว่าจะขึ้นเปอร์เซ็นต์คงเดิมไปอีก 6 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็ยังไม่สามารถลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อลงไปได้ ทำให้ Fed มีมติหลังการประชุมเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่แรงที่สุดในรอบ 22 ปีเลยทีเดียว ซึ่งภายหลังการแถลงดังกล่าว นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% อีก 2-3 ครั้ง แต่จะไม่กดดันถึงขั้นปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปเป็นครั้งละ 0.75% ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่สุดท้ายแล้วล่าสุด Fed ก็ได้กลับลำ มีมติการประชุม 10-1 ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยล่าสุดอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าสูงสุดในรอบ 28 ปี เพราะสภาวะเงินเฟ้อนั้นไต่ระดับจนถือได้ว่าเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว อ้างอิงจากค่า CPI หรือดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2565 ที่ได้ทำ New High แตะอยู่ที่ 9.1% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 8.6%
นอกจากนี้นโยบายการเงินของ Fed อีกหนึ่งสิ่ง คือ การทำ QT หรือ การดึงเงินออกจากระบบ เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เป็นการเลิกโอ๋ภาคเศรษฐกิจและตลาดทุนหลังผ่านวิกฤติเป็นที่เรียบร้อยจนเข้าสู่ระยะของสภาวะเงินเฟ้อเฉกเช่นตอนนี้ โดยมีการปรับลดขนาดงบดุลเริ่มที่เดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และเดือนกันยายน 2565 นี้ จะมีการปรับเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุล หรือทำ QT เป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
นโยบายการเงินที่ตึงตัวนี้น่ากลัวอย่างไร?
ในวันที่ 1 มิถุนายนวันเดียวกันนั้น อ้างอิงจากทางสำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า เจมี่ ดิมอน CEO ของ JP Morgan วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งแม้ทุกคนอาจคาดหวังว่า Fed จะรับมือกับสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าสภาวะตอนนี้มันเป็นเพียงปัญหาที่เปรียบเหมือนกับพายุธรรมดา หรือมันกำลังสะสมกำลัง กำลังก่อตัวเป็นพายุลูกใหญ่แบบพายุเฮอริเคนแซนดี (พายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดในฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปี 2555 ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก) ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับพายุลูกนี้ไว้ก่อน

สิ่งที่ย้ำเตือนแนวโน้มการมาของพายุเฮอริเคนลูกใหญ่นี้ ดูได้จากค่า CPI ตามภาพด้านบน เราจะเห็นได้เลยว่าค่า CPI ตามจริงนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ตลอด จากเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 7.5% ทำ New High จนแตะที่ระดับ 9.1% สถิติความรุนแรงของสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆนี้ เป็นตัวบ่งบอกว่า สภาวะเงินเฟ้อตอนนี้ยังไม่ใช่จุดสูงที่สุด ตัวเลขที่เห็นยังไม่สูงพอจนแตะระดับเพดาน จากที่เราเห็นว่าค่า CPI มีการขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งความน่ากลัวอยู่ตรงที่ แนวทางของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ (Data Dependent) โดยเราเห็นแล้วว่าเมื่อ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ยังลดสภาวะเงินเฟ้อไม่ได้ ก็มีการปรับอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งนโยบายการเงินดังกล่าวก็กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยทั้งหมดในระบบการเงิน หนึ่งในนั้นก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งกดดันให้ภาคธุรกิจและตลาดทุนมีภาระรายจ่ายที่สูงมากขึ้นไปอีก เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะ Dead Crisis วิกฤติหนี้ที่มาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
บรรยากาศอึมครึมที่เรากำลังเผชิญอยู่จากข้อมูลที่ได้กล่าวไป จึงมีโอกาสที่กำลังก่อตัวเป็น "พายุเฮอริเคนทางเศรษฐกิจ" ที่มีพลังทำลายล้างสูงมากจนสภาวะเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ระยะถดถอย (Recession) ฉะนั้นในตอนนี้ เราอาจจะต้องสะสมอาวุธและเสบียง ซึ่งก็คือการจัดการบริหารการเงินของตัวเองให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมรับมือการมาของพายุลูกยักษ์ที่น่ากำลังจะมาเยือนในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา
-https://www.kasikornasset.com/th/market-update/Pages/06-hottopic-fed-meeting-
-https://th.investing.com/economic-calendar/cpi-733
ข่าวเด่น