คริปโตเคอเรนซี่
เปิดตัว Keep Di บริการ อินชัวรันส์ บูโร แรกของโลกบนบล็อกเชน


ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส ประกาศเปิดตัว Keep Di บริการล้ำหน้าในรูป National Insurance Bureau เป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม จับเทรนด์ Web 3.0 พัฒนาแพลตฟอร์มบูโรบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ใช้ NFT ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ มอบสิทธิประโยชน์โดยตรงแก่ระบบนิเวศธุรกิจประกันภัยและผู้ใช้งานในทันทีที่เริ่มเข้าสู่ระบบ เชื่อมั่นในศักยภาพเทคโนโลยี คาดมีผู้ใช้บริการในปีแรก 300,000 ราย ก่อนขยายสู่อุตสาหกรรมอื่น พร้อมเล็งต่อยอดความสำเร็จสู่ตลาดต่างประเทศต่อในปีหน้า


 
นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Keep Di ภายใต้บริษัท ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส จำกัด เปิดเผยว่าการมาถึงของ Web 3.0 และความพร้อมของเทคโนโลยีบล็อกเชน นับเป็นโอกาสชั้นเยี่ยมที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ด้วยเครื่องมือการตลาดล้ำหน้ายุคดิจิทัลที่ให้ผลลัพธ์จริงในเวลาอันรวดเร็ว ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมล้ำหน้าที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจประกันภัยมายาวนาน นายกิตตินันท์ เล็งเห็นถึงโอกาสมหาศาลของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงพัฒนาแพลตฟอร์มบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ให้บริการมิติใหม่ด้านข้อมูลเชิงลึก ภายใต้ชื่อ Keep Di เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในธุรกิจประกันภัย ด้วยข้อมูลมือหนึ่ง (First-party data) แบบไม่ผ่านตัวกลาง และเป็นข้อมูลเชิงลึกคุณภาพสูง สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาดได้จริง

“Keep Di คือแพลตฟอร์มการบริการรูปใหม่บนบล็อกเชน ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ให้แนวคิดในการทำหน้าที่เสมือนเป็น National Insurance Bureau (NIB) ของระบบนิเวศด้านการประกันภัย โดยเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้งานไว้ใน NFT (Non-fungible Token) ได้ถูกระเบียบ ให้ความปลอดภัยสูง จุดเด่นสำคัญคือการมอบประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ใช้ ในลักษณะของเครื่องมือทางการตลาดที่ให้ประสิทธิภาพสูง สำหรับทั้งธุรกิจประกันภัยและผู้ใช้งาน โดยแพลตฟอร์มการบริการ Keep Di จะเริ่มเปิดให้ใช้บริการในเดือนกันยายนนี้” นายกิตตินันท์ กล่าว
 

 
แพลตฟอร์มบริการ Keep Di ได้รับการออกแบบและบริหารจัดการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของโลกการเก็บข้อมูลที่จะเปลี่ยนรูปแบบในการเก็บข้อมูลผู้ใช้โดยสิ้นเชิง จากเดิมผู้ประกอบการมักจะเก็บข้อมูลก็ต่อเมื่อมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ หรืออาศัยช่องทางโซเชียลต่างๆ ในการเก็บข้อมูล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และหากจะต่อยอดเพื่อนำข้อมูลมาใช้นำเสนอบริการที่ตรงใจผู้บริโภค ก็มักจะต้องลงทุนระบบไอทีเอง ไม่ว่าจะเป็น CRM และระบบวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรืออาศัยช่องทางจากคู่ค้าในการแบ่งปันและส่งต่อข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูง และหลายครั้งข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เหล่านี้ คืออุปสรรคที่ขัดขวางโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสายประกัน

“บริการของแพลตฟอร์ม Keep Di จะปฏิวัติรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบเดิม โดยลูกค้าเป็นฝ่ายยินยอมให้เก็บข้อมูลได้โดยตรง และข้อมูลนั้นจะถือเป็นทรัพย์สินของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนมือได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว และให้ความเป็นส่วนปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่สำคัญคือ เป็นข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง และเป็นข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกที่ผ่านการวิเคราะห์ในหลายมิติ จึงเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพสูง นำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์กลยุทธ์การตลาดเฉพาะทางของแต่ละธุรกิจ (personalized marketing) ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย”

“ที่เรียกว่าเป็น บูโร เนื่องจาก Keep Di จะทำหน้าที่เสมือนเป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีหน้าที่ในการเก็บข้อมูล โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานข้อมูลแต่อย่างใด เพราะการจะนำข้อมูลมาใช้ ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมระหว่างผู้ใช้และธุรกิจในระบบนิเวศประกันโดยตรง ซึ่งบล็อกเชน จะทำหน้าที่เป็นระบบโครงสร้างหลักหลังบ้าน โดยมีเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Token) เป็นเสมือนกลไกหรือเครื่องมือในการเก็บข้อมูลโดยตรงของผู้ใช้ ข้อมูลที่ถูกเก็บจะไม่สามารถนำมาทำซ้ำ และถือเป็นสินทรัพย์ของเจ้าของข้อมูลแต่เพียงผู้เดียว ด้วยโครงสร้างลักษณะดังกล่าวจึงให้แพลตฟอร์ม Keep Di ถือได้ว่าเป็นเสมือนบูโรกลางด้านข้อมูลของระบบนิเวศประกันภัยรายแรกของโลก ที่ให้ความปลอดภัย และมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ” นายกิตตินันท์ กล่าว

ในเบื้องต้น ผู้บริโภคที่อยู่ในระบบนิเวศประกันภัย หรือต้องการเข้าร่วมแพลตฟอร์ม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ สามารถดาวน์โหลด e-wallet เพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในรูปของ NFT ไว้ใช้ในการแลกเปลี่ยนบริการหรือรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากคู่ค้าที่เข้าร่วมแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 รายและเป็นคู่ค้าในระบบนิเวศประกันภัยซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจหรือใช้บริการของ Claim Di อยู่แล้ว โดยบริษัทฯ ได้เริ่มกระจาย token สู่ระบบนิเวศคู่ค้าด้านประกันภัยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนปัจจุบันคิดเป็นจำนวน token กว่า 3 ล้านเหรียญ ซึ่งคู่ค้าเหล่านี้ก็จะนำ token ที่มีไปใช้ในการทำการตลาดเพื่อมอบให้กับลูกค้าของตน นับเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโทเคน (tokenomics) ที่ให้ประโยชน์ทางการตลาดโดยตรงแก่ทั้งคู่ค้าและลูกค้า (ผู้บริโภค)

ปัจจุบัน Keep Di มีจำนวน token ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศ 1,000 ล้านเหรียญ โดยกระจายไปยังกลุ่มหลัก ได้แก่ผู้ใช้ที่เก็บ NFT ใน e-wallet และคู่ค้าที่เข้าร่วมในระบบนิเวศของแพลตฟอร์ม National Insurance Bureau ที่จะได้รับ token ตามเงื่อนไขของบริษัทฯ โดยคู่ค้าสามารถใช้ token ในการทำธุรกรรมต่างๆ ในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดตรงไปยังกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้งาน โดยการใช้งาน token จะอยู่ภายใต้กฎที่ กลต. เป็นผู้กำหนด ซึ่งบริษัทจะมีระบบควบคุมปริมาณเหรียญอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่ามูลค่าของ token จะไม่ผันผวนเหมือน token ทั่วไปในตลาด
 

 
“เราคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ดาวน์โหลด e-wallet ของ Keep Di เพื่อใช้บริการบนบูโรในปีนี้ประมาณ 300,000 ราย โดยการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ NFT จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนชุดข้อมูล และในปีหน้าเมื่อระบบสมบูรณ์เต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผู้ใช้ถึง 3 ล้านราย ในขณะที่การสร้างชุดข้อมูล NFT จะสูงถึงกว่า 10 ล้านชุด ภายในปี 2024 จากนี้” นายกิตตินันท์ กล่าว

เมื่อนำศักยภาพของ National Insurance Bureau มาผสานรวมกับนวัตกรรมด้าน AI และการพัฒนาเพื่อต่อยอดการใช้งานร่วมกับระบบ e-Payment หรือการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ ก็จะช่วยผลักดันธุรกิจในระบบนิเวศประกันภัยไปสู่การเติบโต โดยช่วยให้ธุรกิจประกันภัยสามารถขยายฐานธุรกิจและการดำเนินงานรูปแบบใหม่เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยธุรกิจจะสามารถใช้ระบบใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ได้อย่างสมบูรณ์

“ในช่วงต้นของการให้บริการ Keep Di และแพลตฟอร์มบูโร จะรองรับธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศด้านประกันภัย เป็นกลุ่มแรก ก่อนที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจในกลุ่มอื่น อาทิ กลุ่มธุรกิจรถยนต์ กลุ่มค้าปลีก เฮลธ์แคร์ และ ฯลฯ ภายในปีหน้า นอกจากนี้ เรายังมีแผนในการขยายการให้บริการแพลตฟอร์มบูโรของ Keep Di ไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นผู้ร่วมลงทุนใน Claim Di อย่าง ไต้หวัน เกาหลี และมาเลเซีย อีกด้วย” นายกิตตินันท์ กล่าวสรุป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ค. 2565 เวลา : 13:40:41
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:36 am