
ผลการประชุมบอร์ด CODING แห่งชาติ ครั้งที่ 7 (2/2565) คณะกรรมการ CODING เห็นชอบใช้คำว่า CODING สื่อสารถึงประชาชนทั่วประเทศ พร้อมปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และเร่งหาจัดหา Smart Devices ให้เด็กได้เรียนออนไลน์อย่างทั่วถึง
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัว รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะคณะอนุฯ ประชาสัมพันธ์ CODING แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ ครั้งที่ 7 (2/2565) โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งประธานอนุกรรมการฯ และประธานคณะทำงานฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และประชุมผ่านระบบออนไลน์
สาระสำคัญคือที่ประชุมมีมติรับทราบและเห็นชอบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ โดยเห็นชอบให้ใช้คำว่า CODING ทับศัพท์ไปเลยโดยไม่ต้องมีคำแปลเพราะเป็นคำที่ใช้กันในสากล เพื่อเป็นการสื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบและเข้าใจตรงกัน รวมถึงเห็นชอบในการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้ง ชื่อ หน้าที่อำนาจของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการสนับสนุนอุปกรณ์ (Smart Devices) สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนและงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน USO ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนผู้มีความต้องการกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งว่ากองทุน กสทช. พิจารณาให้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนฯ 5 ปีงบประมาณ (2566-2570) วงเงินงบประมาณ 2.9 พันล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนเพียง 1.7 แสนคน ที่ประชุมจึงมีมติในกำหนดแนวทางเพื่อระดมทุนและงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อจัดหา Smart Devices ได้เร็วขึ้นกว่าแผนที่กำหนดไว้ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานเพราะการเรียนรู้รอไม่ได้ ด้วยการขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาคประชาชนโดยทั่วไป และสำคัญที่สุดคือสมาคมศิษย์เก่าของแต่ละโรงเรียน ผ่านการทำแคมเปญรณรงค์ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวต่อด้วยว่า คุณหญิงกัลยา ในฐานะเจ้าของนโยบาย CODING ย้ำเสมอว่า ควรส่งเสริมให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้าใจหลักคิดของ CODING ที่ไม่ใช่มีแค่การใช้เครื่องหรือ Plugged CODING แต่ CODING ยังเป็นเรื่องของกระบวนการคิดที่จะช่วยให้คนไทย คิดเป็น คิดชอบ แก้ปัญหาเป็น แก้ปัญหาชอบ ส่งเสริมให้มีหลักคิดที่เป็นตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอน นำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีหลักการ ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสร้างเสริมศักยภาพของคนไทยให้แข่งขันได้
ข่าวเด่น