แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรชี้ปัญหาเงินบาทอ่อนค่า มองธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งรวม 0.50% คาด Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 3.5% เสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย


นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยประเด็นเศรษฐกิจในงานสัมนา “ภาวะเศรษฐกิจโลกในวังวนเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ว่าในด้านของค่าเงินบาทอาจปรับตัวอ่อนค่าจนถึงระดับ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 1 เดือนนี้ก่อนธปท.จะมีการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อพยุงค่าเงินบาท


โดยสาเหตุสำคัญของปัญหาคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดในรอบ 28 ปี ที่ล่าสุดเร่งอัตราขึ้นเป็น 0.75% เพื่อสยบปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินทุนไหลทะลักกลับเข้าไปในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และป้องกันการขาดทุนจากความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทางประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่มีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed เนื่องจากช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยที่ทางไทยยังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามไปทันที ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลง ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเงินทุนที่ไหลออกไปจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปัจจุบันต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยลดลงเหลือ 9.6 หมื่นล้านบาท จากต้นปีที่ถือครอง 1.87 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วง 1 เดือนนี้นายกอบสิทธิ์คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทไทยอาจจะแกว่งตัว 2 ช่วงที่ 36-36.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 36.50-36.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ 

แต่ถึงอย่างนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป โดยมีการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทในบางช่วง ซึ่งได้มีการขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาราว 2.7 พันล้านบาท เพื่อควบคุมระดับค่าเงินและสภาพเศรษฐกิจไทยต่อไป และมองว่า ทางธปท.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่ระดับ 0.25% และอีกครั้งในการประชุมเดือนพ.ย. 65 อีก 0.25% เท่าเดิม ทำให้สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% ต่อปี (ปัจจุบันที่ 0.50%) แต่ไม่มีแนวโน้มที่ปรับขึ้นไปถึงที่ระดับ 2.50% เพราะเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบและเข้าสู่ช่วง Recession หรือช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งทางนายกอบสิทธิ์ได้มองว่า สภาพเศรษฐกิจโลกล่าสุดความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession จากการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยที่ปีนี้มีแนวโน้มที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดสูงถึง 3.25-3.5% เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี
  
 

LastUpdate 21/07/2565 21:29:04 โดย : Admin
19-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 19, 2025, 11:10 pm