คริปโตเคอเรนซี่
Special Report : Zipmex เกิดอะไรขึ้น? สรุปข้อเท็จจริง และหนทางเยียวยานักลงทุนของบริษัท


 

 

ท่ามกลางตลาดสินทรัพย์ดิทัลและเหรียญคริปโตที่เซื่องซึมลงไปตั้งแต่ช่วง Sell in May ผนวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในปัจจุบัน ล่าสุดก็ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เหล่าพี่น้องชาวคริปโตขนลุกขนพองกันอีกระลอกใหญ่ เพราะเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทาง Zipmex บริษัทให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญคริปโต ประกาศระงับการถอนเงินบาท 

และเหรียญคริปโต เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาที่บริการ Zipup ขาดสภาพคล่องจนลูกค้าไม่สามารถเอาเงินที่ฝากไว้ออกมาได้


โดยบริการ Zipup ก็คือโปรแกรมสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท ที่ผู้ลงทุนที่มีเหรียญคริปโตสามารถนำไปฝากไว้ในกระเป๋า 
Z Wallet โดยเราจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญคริปโตกลับมา เปรียบเสมือนกับการฝากเงินนิ่งๆในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยนั่นเอง ซึ่งเหรียญคริปโตที่บริการ Zipup เปิดรับฝาก ได้แก่ เหรียญ BTC ETH USDT และ USDC โดยให้ผลตอบแทนมากสุดถึง 10% เลยทีเดียว แน่นอนว่ามีนักลงทุนหลายๆคนใช้บริการ Zipup ในจำนวนไม่น้อย เพราะก็เหมือนกับเป็น Passive Income ที่แค่เอาเหรียญคริปโตที่มีของตัวเองมาพักไว้ในพื้นที่ที่สามารถทำกำไรได้ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ซื้อเหรียญคริปโตเก็บไว้ ไม่เน้นเทรด หรือต้องการผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน ที่เสี่ยงน้อยกว่าการเทรดด้วยตัวเอง

แต่สุดท้ายแล้วผลปรากฏว่าการฝากใน Zipup ดูท่าจะเสี่ยงสูงที่สุด เพราะทางบริษัทได้มีการนำเหรียญทั้งหมดที่นักลงทุน Staking เอาไว้โปรแกรม Zipup ไปฝากไว้ที่ Zipmex Global ประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง Zipmex Global เองก็ได้เอาเหรียญทั้งหมดไปวาง Liquidity หรือปล่อยกู้ให้กับทาง Babel Finance และ Celsius Network อีกที


“Babel Finance” “Celsius Network” คืออะไร?

 
 
 
Babel Finance เป็นผู้ให้บริการกู้ยืมคริปโต การจัดการทรัพย์สิน และการสนับสนุนทางการเงินของสถาบันและนักลงทุนที่มีคุณสมบัติทั่วโลก ซึ่งได้ระงับการถอนสินทรัพย์จากทางแพลตฟอร์มทั้งหมดอย่างกะทันหัน และพักการชำระหนี้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากความผันผวนของตลาดคริปโตและปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้บริษัทได้มีการระดมทุนและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัท Venture Capital ที่มีชื่อเสียง ทำให้ทางบริษัท Babel Finance ถูกประเมินเป็นมูลค่าสุทธิอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังมียอดกู้คงค้างอยู่มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว

 
 
 
Celsius Network ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการกู้ยืมคริปโตเช่นกัน โดยผู้ใช้สามารถนำเหรียญคริปโตมาฝากและล็อคไว้เพื่อกินดอกเบี้ยโดยแพลตฟอร์มจะปล่อยกู้ให้กับนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียง และผู้ใช้บริการของ Celsius เอง ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับพิษทางเศรษฐกิจ มีปัญหาสภาพคล่องอีกเช่นเดียวกัน โดยได้ทำการล็อคเหรียญของผู้ใช้งานไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และในที่สุดบริษัทก็ย่ำแย่จนถึงขนาดยื่นขอล้มละลายตามกฎหมายไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทก็มีสัญญาณการประกอบธุรกิจจากการปลดพนักงานของตนออกไปในจำนวน 1 ใน 4 หรือกว่า 150 คนเลยทีเดียว

กลับมาต่อกันที่ Zipmex จริงๆแล้วการระงับการทำธุรกรรมในครั้งนี้กระทบกับเหรียญคริปโตที่อยู่ใน Z Wallet เท่านั้น ขณะที่อีกกระเป๋าซึ่งเป็น Trade Wallet สำหรับการเทรดซื้อขายเหรียญคริปโต (เหมือนบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถนำมาทำธุรกรรมได้เสมอ) ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้เปิดให้ฝากถอนตามปกติ รวมถึงถอนเงินสดออกมาได้แล้วเมื่อช่วง 20.00น. ของวันที่ 20 กรกฎาคมวันเดียวกัน และทาง Zipmex ได้มีการฝากสินทรัพย์ไว้กับ Babel Finance อยู่ที่ 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฝากกับ Celsius ไว้ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงทั้งหมด 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) ไม่ใช่ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 5 พันล้านบาท) ตามข่าวโคมลอยก่อนหน้านี้ ซึ่งทาง Zipmex แจ้งในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ได้กำลังหารือกับทาง Babel Finance อย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์และเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ในส่วนของ Celsius ที่ได้รับความเสียงหายอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น บริษัทได้รับผลกระทบเพียงส่วนน้อยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะแก้ไขความเสียหายตรงส่วนนี้ก่อนด้วยการนำเงินทุนของตัวเองมาชดเชย และจะยังหารือกับทาง Celsius อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

โดยการดำเนินการหลังจากนี้ ทาง Zipmex จะมีการปรับแผนการเงินของบริษัทใหม่ให้รัดกุม และจะมีการถอนเงินทุนและสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทที่เคยฝากไว้กับคู่ค้าทางธุรกิจออกมา เพื่อรวบรวมเงินมาคืนนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจาก Zipup โดย ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล CEO ของ Zipmex กล่าวว่า ทาง Zipmex ประเทศไทย ร่วมกับ Zipmex Global จะมีการดำเนินการทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (Class Action Lawsuit) กับทางคู่ค้าทั้ง 2 อย่าง Babel Finance และ Celsius Network ด้วย เพื่อนำเงินมาคืนให้ได้ และถ้าหากนักลงทุนชาวไทยที่ได้รับผล กระทบต้องการฟ้องร้องเป็นผู้เสียหายร่วมกับทาง Zipmex บริษัทก็จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฟ้องร้องให้ ส่วนแผนสำรอง หากคู่ค้าดังกล่าวไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ ทาง Zipmex ประเทศไทยวางแผนจะขายหุ้นของบริษัทให้กับคู่ค้าและนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาร่วมทุน (ซึ่งล่าสุดมีนักลงทุนหลายรายสนใจที่จะเข้ามาร่วมหุ้น แต่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในขณะนี้) เพื่อเป็นการรับประกันว่าทาง Zipmex จะหาเงินมาชดใช้ผู้เสียหายทั้งหมดอย่างแน่นอน

ทั้งนี้บริการ Zipup ไม่ใช่เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เดียวของทาง Zipmex นอกจากการให้บริการด้านการเทรดแลกเปลี่ยนซื้อขายแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ที่ชื่อ Zixel โปรเจค WEB 3.0 และโปรเจค Metaverse อื่นๆที่มี Potential ในการสร้างผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไรให้กับทางบริษัท ประกอบกับยังมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมหุ้นตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่าทาง Zipmex นั้นยังมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจไปต่อได้ ส่วนหนทางการชดเชยนักลงทุนในกรณี Zipup ก็ยังต้องจับตาดูท่าทีของทางคู่ค้า Babel Finance กันต่อไป
 

LastUpdate 24/07/2565 15:15:32 โดย :
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:17 am