ซีเอสอาร์-เอชอาร์
รักษ์โลก รักษ์พลังงาน ด้วยไบโอดีเซลครบวงจรกับ BCG โมเดล โครงการ "ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 19"


วิกฤตพลังงาน เป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์สำคัญที่เป็นผลพวงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 6 และยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานหลักของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ส่งผลกระทบให้ทั่วโลกเกิดวิกฤติการขาดแคลนพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และลุกลามไปถึงระบบการขนส่ง การผลิตอาหาร การบริโภค เงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

 
 
“ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 19 ” โดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำครูอาจารย์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ในวันที 23-24 กรกฎาคม 2565 ณ โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในโครงการที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับองค์กรภาคี จัดทำสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การแก้วิกฤติ ด้วยการ “นำปัญหามาแก้ปัญหา” และการถอดพระอัจฉริยภาพ “จอมปราชญ์แห่งพลังงาน”  
 
 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาการนำน้ำมันปาล์มไปใช้แปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และได้ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสาธิตสกัดน้ำมันปาลม์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ต่อจากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานทดแทน ประกอบด้วย โครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขัน โครงการวิจัยทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซล และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชและไบโอดีเซลจากการปฏิบัติจริง เพื่อเป็นตัวอย่างการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตพลังงานทดแทนการสกัดน้ำมันพืชแก่ชุมชน และเพื่อทดลองการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่แห้งแล้ง
 
 
 
 
โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จ.เพชรบุรี มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การผลิตไบโอดีเซล และการนำวัตถุดิบที่ได้จากการผลิตไบโอดีเซล คือ กลีเซอรีนและน้ำมันปาล์มนำมาผลิตสบู่และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนเช่น น้ำยาล้างจาน สเปรยไล่ยุง น้ำมันหอมระเหย การเลี้ยงปลา(ด้วยอาหารที่มีกากปาล์มผสม) เลี้ยงหมูป่า เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ เพื่อกินกากปาล์มซึ่งได้จากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ การกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่โครงการมีการปลูกพืชเพื่อสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้บ้าน มะกรูด โปร่งฟา ขมิ้น กะเพราป่า เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการนำวัตถุดิบมาผลิตและหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์โดยไม่เกิดของเสียเหลือทิ้ง ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการเกิดคาร์บอนในอากาศ จากการใช้วัตถุชีวภาพ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน  ตามหลัก BCG โมเดล ซึ่ง ครูอาจารย์และผู้ที่สนใจจะได้เรียนรู้และลงมือทำกิจกรรมในโครงการทุกขั้นตอน
 
 
 
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เราจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 19 มีผู้เข้าร่วมโครงการ รวมจำนวน 2,279 คน ทุกกิจกรรมในโครงการตามรอยพระราชาเราคาดหวังให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ในพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจนานัปการเพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก  การมาลงพื้นที่ทำกิจกรรมโครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ในครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ทั้งการนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การดูแลสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า รวมถึงแนวทางการสร้างงานสร้างอาชีพ  ซึ่งทิพยประกันภัยใส่ใจสังคม กับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมร่วมส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับสังคม คาดหวังว่าครูอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป
 
 
 
ด้าน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเสริมว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเรื่องที่พระองค์ได้ทรงสอนให้คนไทยได้เข้าใจและนำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตมาเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักการใช้ชีวิตที่ไม่มีวันล้าสมัย โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของพระองค์ท่านในเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับ BCG Model นั่นคือ Bio – Circular- Green Economy ซึ่งเน้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว  เกิดนวัตกรรมการผลิตเป็นห่วงโซ่จากวัตถุดิบตั้งต้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสร้างงานและก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UNSDGs 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดภายใต้ภาวะวิกฤติที่ทุกประเทศต่างประสบปัญหาอยู่ขณะนี้”  

 
 
 
รศ.น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของศูนย์คุณธรรม คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมคุณธรรม และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนให้ได้เข้าใจถึงคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การที่ครูอาจารย์ได้มาร่วมทำกิจกรรม นับว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้คุณธรรมได้ครบทุกมิติ ขยายผลส่งต่อให้เกิดต้นทุนชีวิตหรือทุนชีวิตที่มั่นคง เป็นพลังบวกที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปอย่างยั่งยืน
 
 
 
นอกจากกิจกรรมลงพื้นที่แล้ว อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรมถอดบทเรียนตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ (Board Game) 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป 

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา" จัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา  ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King's Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี 
และ LINE Official: @dfoundation
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ค. 2565 เวลา : 20:53:27
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 8:49 am