เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : เกิดอะไรขึ้น? ตลาดลงทุนกลับมาสดใส ขัดกับเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะ


 

 

ในการประชุมล่าสุดของทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed (27 กรกฎาคม 2565) ได้มีมติเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับเท่ากับการขึ้นดอกเบี้ยของครั้งที่แล้ว ทำให้เป็นเรื่องที่น่าคลายกังวลสำหรับนักลงทุน บรรยากาศของตลาดทุนนั้นจึงตีกลับขึ้นมาสดใส ทั้งทองคำ หุ้น หรือแม้แต่กระทั้งสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่าง     คริปโตเองก็พุ่งสูงขึ้นไปตามๆกัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลข GDP ของประเทศในไตรมาสที่ 2 หดตัวอยู่ที่ 0.9% เป็นการยืนยันภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession อย่างเป็นทางการ


จากการจัดทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะเงินเฟ้อของ Fed ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาแล้ว 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมนั้น เป็นการขึ้นดอกเบี้ยด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ 0.25% ปรับขึ้นเป็น 0.5% ในครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่ปรับสูงขึ้นอีกเป็น 0.75% ในกลางเดือนที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปีเลยทีเดียว และสูงผิดจากการคาดการณ์ไปมาก เหตุเป็นเพราะต้องเพิ่มแรงในการฉุดรั้งตัวเลข CPI หรือดัชนีวัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ (ค่า CPI เดือนมิถุนายนล่าสุด ได้ทำ New High แตะอยู่ที่ 9.1%) สถานการณ์ตึงเครียดนี้จึงได้คอยเขย่าขวัญเหล่าบรรดานักลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่ จนตลาดลงทุนโดยรวมได้ตกอยู่ในสภาวะความกลัวมากว่า 5 เดือน

แต่ล่าสุด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ครั้งที่ 4 ได้มีมติเอกฉันท์ออกมาว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะคงอยู่ที่ระดับ 0.75% เป็นตัวเลขเหมือนกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของเหล่านักวิเคราะห์และนักลงทุนที่เก็งกันว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ไปถึง 1% หากดูอัตราเร่ง 3 ครั้งก่อนหน้าที่ผ่านมา ทำให้ตลาดทุนกลับมาสดใสเป็นครั้งแรก หลังจากช่วงการเกิดสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน สัญญาซื้อขายทองคำกลับมาปิดบวกอยู่ที่ระดับประมาณ 1,760 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่ลดระดับลงไป 1,600 ดอลลาร์สหรัฐก่อนหน้านี้ ในส่วนของหุ้น ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 4.1% ดัชนี S&P 500 ปรับขึ้น 2.6% และดัชนีดาวโจนส์ ปรับขึ้นไป 1.4% ภายหลังการประกาศ ตลาดคริปโตก็เช่นกัน จากที่ Bitcoin อาการทรงๆอยู่ที่ระดับ 20,000-22,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการประกาศ ก็พุ่งขึ้นมาทำแตะจุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 24,000 ดอลลาร์สหรัฐ คำอธิบายของปรากฎการณ์นี้ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นในเรื่องอัตราเร่งของการขึ้นดอกเบี้ย ที่ไม่มีทิศทางที่สูงขึ้นไปมากกว่าเดิม เป็นตัวบ่งบอกกลายๆว่า อัตราดอกเบี้ยอาจแตะที่ระดับเพดานสูงสุดแล้ว (0.75% 2 ครั้ง) จึงมีแนวโน้มทางเทคนิคว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปของ Fed อาจคงอยู่ที่ระดับเดิม หรือมีการปรับตัวเลขที่ลดลงไปจาก 0.75% บรรยากาศของตลาดลงทุนเลยมีการผ่อนคลายอย่างที่เห็น

 
 
 
แต่หากจะโฟกัสไปถึงเรื่องตัวเลข GDP ของทางสหรัฐ ในไตรมาส 2 ที่มีการออกมาสดๆร้อนๆนั้นมีการหดตัวอยู่ที่ 0.9% (28 กรกฎาคม 2565) ถือได้ว่าเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ครั้ง (จากไตรมาสแรกของปี หดตัวอยู่ที่ 1.6%) ตามรูปกราฟด้านบนของปี 2022 ซึ่งตามเกณฑ์แล้วนั้นเราสามารถนิยามได้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่สภาวะ Recession หรือการถดถอยของเศรษฐกิจ อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายเจอโรม พาวเวล ประธานของ Fed ได้ออกมาแถลงถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม และยังคงทยอยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเรื่องของเงินเฟ้อให้อยู่หมัด พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า Fed ไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องของ Recession ภารกิจของทาง Fed คือการควบคุมสภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น

โดยเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าหาก Fed ในอนาคตทำเซอไพรส์เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเดิม ผิดจากที่แนวโน้มที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นทำจุดสูงสุดไปแล้วที่ 0.75% เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ที่เรายังไม่รู้ว่าเพดานของมันจะไปสุดที่ตรงไหน (จากค่า CPI มีทิศทางทำจุดสูงสุดเรื่อยๆ) ก็มีโอกาสที่สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะ Deep Recession จริงๆจังๆในทางปฏิบัติ และตลาดลงทุนก็จะกลับมาอยู่ในสภาวะความกลัวอีกครั้งหนึ่ง ไม่เหมือนกับปี 2020 ตามภาพด้านบน ที่ในทางเทคนิค ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีดังกล่าวเกิดสภาวะ Recession ตามนิยามเช่นกัน แต่กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 และยิงยาวมาถึงปี 2021 เพราะในปีดังกล่าวมีการลดอัตราดอกเบี้ย และยังทำ QE เพิ่มเงินในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากความเสียหายของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดอยู่ แต่ในปีปัจจุบัน โลกของเราเผชิญกับสถานการณ์สงคราม และสภาวะเงินเฟ้อ ที่ Fed ได้ออกนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทั้งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการทำ QT ดึงเงินออกไปจากระบบเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เราจึงไม่มีทางรู้เลยว่า GDP ไตรมาสที่ 3 ของทางสหรัฐจะออกหัวหรือก้อย

ดังนั้นคงต้องจับตาดูต่อไปในการประกาศตัวเลข CPI ของวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ว่าดัชนีเงินเฟ้อ จะทำ New High จากจุดสูงสุด ที่ 9.1% หรือไม่ หากยังทำจุดสูงสุดต่อไป แนวโน้มการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะเรียกได้ว่าน่าเป็นห่วง และสภาวะ Recession ก็อาจเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ และยิงยาวไปถึงปีหน้า แต่ถึงอย่างนั้นก็คงต้องรอดูท่าทีของ Fed ประกอบต่อไปว่าจะกลับลำ ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐหรือไม่

 
ที่มา

-https://www.wsj.com/articles/global-stocks-markets-dow-update-07-27-2022-11658907223

-https://www.cnbc.com/2022/07/28/gdp-q2-.html

LastUpdate 31/07/2565 17:25:22 โดย : Admin
15-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 15, 2025, 12:04 pm