หากพูดถึง Marketplace หรือแพลตฟอร์มซื้อขายงานศิลปะ NFT เราคงคุ้นเคยกับ Opensea, TofuNFT หรือ Quixotic (ที่อยู่บนเครือข่าย Optimism) ที่ทาง AC News เคยแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกันไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ Opensea ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดบนเครือข่าย Ethereum ที่มี Creator ศิลปินต่างๆมาสร้างโปรเจคของตัวเองอยู่มากหน้าหลายตา ทำให้มีงาน NFT ให้เราได้เลือกสรรเต็มไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นเองผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการ Digital Asset อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่บ้างถึงกระบวนการซื้องาน NFT ด้วยการใช้ เหรียญคริปโต ประกอบกับความน่าเชื่อถือของงานที่โพสขาย เพราะก็มีข่าวออกมาบ่อยๆว่า มีผู้ที่ไม่หวังดีสวมบทบาทเป็น Creator ขโมยงานศิลปะที่เป็นแบบ Physical ของศิลปินท่านอื่นในชีวิตจริง มาทำให้เป็น Digital หรือคัดลอกดัดแปลงแล้วเอามาขายเป็น NFT สร้างความเสียหายให้กับเหล่านักสะสมงาน ที่เสียเงินไปแต่กลับไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิครอบครองงานชิ้นนั้น หรือกลับกลายเป็นว่าถืองานที่ไม่ได้คุณภาพ ซ้ำแล้ว Creator หรือศิลปินเจ้าของโปรเจค NFT นั้นๆ ไม่ได้ดูแลโปรเจคของตัวเองจริงๆจังๆ ทำให้คุณค่าของงาน NFT ที่เราซื้อมาสะสมตกต่ำลงไปอย่างน่าช้ำใจ ช่องว่างขนาดใหญ่ที่เป็น Pain point ของวงการ NFT อาจทำให้ใครหลายๆคนเกิดความชั่งใจที่จะเข้ามาลงทุนสะสม NFT เพราะข้อกังขาในตัวศิลปิน และผลงาน แต่ NFT Marketplace ที่ชื่อว่า “Coral” อาจเป็นแพลตฟอร์มที่ปลดล็อก Pain point ดังกล่าวให้หมดไป
Coral เป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT จากทาง Kasikorn X บริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ที่มุ่งมั่นในการผลิตธุรกิจด้าน Decentralized Finance ด้วยภารกิจหลัก “Building Trust in the Trustless World” หรือ สร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือ สอดคล้องกับการสร้าง Coral ขึ้นมา เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างการเชื่อมต่อระหว่าง Creator ศิลปินและนักสะสมงาน NFT โดยผู้ที่จะมาเป็นศิลปินในการขายงาน NFT ของตัวเองได้นั้น ต้องได้รับการยืนยันตัวตนจากทางแพลตฟอร์มก่อน รวมถึงได้จับมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดตัวสัญลักษณ์ “© Informed to DIP” ช่วยคัดกรองผลงานให้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ หรือกล่าวได้ว่างาน NFT ที่อยู่บน Coral นั้น ผ่านการลงทะเบียนข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โดยศิลปินต้องนำผลงานศิลปะของตนไปแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อได้เลขทะเบียนข้อมูลลิขสิทธิ์แล้ว ศิลปินจึงสามารถแจ้งกับทาง Coral เพื่อติดสัญลักษณ์ © informed to DIP ไว้ที่งาน NFT ของตน ซึ่งเลขทะเบียนข้อมูลลิขสิทธิ์จะถูกนำเก็บบน Blockchain จึงเป็นที่วางใจได้ว่างาน NFT ที่เราซื้อไปนั้นถูกต้องตามลิขสิทธิ์จากศิลปินที่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ คอนเซปต์หลักของ Coral คือ “Super Simple NFT Marketplace” คือทำให้การซื้อขายงาน NFT เป็นเรื่องง่าย ด้วยการที่เราสามารถซื้อ NFT บน Coral ได้ในรูปแบบสกุลเงินทั่วไป (Fiat Money) อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยระบบรับชำระเงินทั่วไปอย่างบัตรเครดิต หรือ Mobile Banking ทำให้เป็นเรื่องง่ายในการสะสมงาน NFT สำหรับคนที่ยังไม่สันทัดในโลกของคริปโต ก็จะสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ถึง Digital Asset ได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนั้น Coral ยังมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง “สยามพิวรรธน์” ซึ่งจะมาช่วยต่อยอดนวัตกรรม สร้างศูนย์รวมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ มีการจับมือกับ “Ookbee” แพลตฟอร์มอีบุ๊กของคนไทย เพื่อเป็นการผลักดัน Creator ชาวไทยใน จอยลดา และธัญวลัย นำผลงานเข้าไปโลดแล่นในรูปแบบ NFT จึงเรียกได้ว่า การเลือกซื้อผลงาน NFT ในแพลตฟอร์ม Coral นั้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนศิลปินคนไทยที่มีคุณภาพ และรับประกันถึงคุณค่าของงาน NFT นั้นๆที่ซื้อไป
ทั้งนี้ ทาง Coral ยังได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของแพลตฟอร์มในงาน KBTG Vision 2025 อีกด้วยว่า ภายในปี 2025 Coral จะกลายเป็น “Regional Experience Platform” เป็นพื้นที่ซื้อขายงาน NFT ของศิลปินชาวไทยที่เข้าถึงนักสะสมในวงกว้างไปทั่วโลก ด้วยการสร้าง Ecosystem ที่หลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้ใช้งาน
อ่านมาถึงตรงนี้ หากใครเกิดความสนใจใน Coral ก็สามารถเข้าไปส่อง เลือกซื้อผลงานได้จากทาง https://coralworld.co/ หรือสามารถเลือกเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในสื่อโซเชียล https://linktr.ee/coralworld ได้เลย
ข่าวเด่น